22.5.52

ทำงานกับโรงพิมพ์อย่างไรให้ราบรื่น

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าหนังสือของเราที่อุตส่าห์ฟูมฟักกันมาเป็นเดือนๆ จะสวยสดสมใจหรือไม่...โรงพิมพ์คือปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้

ถ้าหากโรงพิมพ์มีความชำนาญและเอาใจใส่ในงานพิมพ์ของเราแล้ว งานที่ออกมาก็ได้ดั่งใจ ถ้าหากเมื่อไหร่ พิมพ์ให้แบบตามมีตามเกิด หนังสือที่เราเฝ้าถนอม ก็จะออกมาแบบขอไปที ความชีช้ำก็จะตกอยู่ที่ บก. ที่ทำงานแล้วไม่ได้ดั่งวาดไว้

ตัวอย่างปกที่คุมสีได้ดั่งใจ

แล้วเราจะเลือกโรงพิมพ์อย่างไรให้ตรงใจ และได้งานอย่างที่หวัง?

โดยปกติแล้ว ถ้าสำนักพิมพ์มีหนังสือวางตามแผงหนังสือ ก็เป็นหน้าที่ของเซลล์โรงพิมพ์จะเป็น "ผู้ตามล่า" เพื่อหาทางเข้าพบสำนักพิมพ์เอง

บ่อยครั้งมากๆ ที่จะมีโทรศัพท์แนะนำตัวจากเซลล์โรงพิมพ์และขอเข้ามาเสนองานพิมพ์...และก็มากครั้งที่ บก.จะรับนัดเพื่อดูแนวทางและหาพันธมิตรใหม่ที่จะร่วมงานพิมพ์

โดยสูตรสำเร็จ เซลล์จะนำเอาผลงานที่เคยตีพิมพ์มาเสนอให้กับสำนักพิมพ์ดู เพื่อให้เห็นผลงานการพิมพ์เป็นเบื้องต้น โดยมากงานพิมพ์ที่เขาเลือกมานำเสนอเราก็ต้องเป็นงานชิ้นโบว์แดงอยู่แล้ว เรามักจะไม่สงสัยในฝีมือการพิมพ์หรอก เพราะที่ไหนๆ ลองใส่ใจที่จะพิมพ์งานเราแล้ว ก็ต้องออกมาดี แต่สิ่งที่เราสนใจมากกว่าคุณภาพงานพิมพ์ก็คือ "การบริการ"

บางเจ้า พอส่งงานให้แล้วก็มักอืดอาดในการรับ-ส่งงาน โทรให้มารับงานตอนเช้า กว่าจะมาได้ก็ปาไปเกือบเลิกงาน ถ้าแบบนี้ ก็คงต้องสวมคอนเวิร์สแบบทางใครทางมัน เพราะการทำหนังสือ มีกำหนดระยะเวลาการออกที่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานสัปดาห์หนังสือและงานมหกรรมหนังสือด้วยแล้ว จะเรื่อยๆ มาเรียงๆ ไม่ได้หรอก เพราะประเดี๋ยวไม่มีหนังสือใหม่ไปโชว์ในงาน

หัวข้อที่มักจะพูดคุยกับโรงพิมพ์ โดยมากมักจะเป็นดังต่อไปนี้
*** เครดิต ที่จะจ่ายเงินให้กับโรงพิมพ์ บางที่เริ่มที่ 30 วัน บางที่ก็ 60 วัน แล้วแต่จะพูดคุยกัน บางแห่ง ถ้าเห็นว่าเราเพิ่งร่วมงานกันเป็นครั้งแรก ก็จะขอให้มีการวางมัดจำในวันที่ส่งไฟล์งาน 50% แต่สำหรับสำนักพิมพ์ที่มีโรงพิมพ์เจ้าประจำอยู่แล้ว ก็ต้องต่อรองกับโรงพิมพ์ใหม่ว่า ไม่ต้องวางมัดจำก่อนได้ไหม เพราะมันทำให้กระแสเงินสดต้องถูกแบ่งไปส่วนนี้ก่อน ทำให้ไม่สะดวกต่อการบริหารก็มี ถ้าหากเราไม่เลือกโรงพิมพ์นี้ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะโรงพิมพ์เก่าที่ทำงานด้วยกันประจำก็ยังพร้อมพิมพ์ให้ ดังนั้น หากโรงพิมพ์ต้องการงานใหม่ ก็ต้องตัดเงื่อนใขการวางมัดจำออกไป นอกเสียจากว่าจะทำงานกับเจ้าใหม่ๆ ที่ไม่อาจแน่ใจว่าจะว่าเบี้ยวจ่ายเงินหรือไม่

ปกติแล้ว เซลล์มักจะขอเข้ามาคุยที่สำนักพิมพ์ เพื่อที่จะให้เห็นหน้าตาของสำนักงาน ว่ามีความเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด สำนักงานมีจริงหรือไม่ เพราะป้องกันการสั่งพิมพ์แล้วไม่จ่ายเงินนั่นเอง

*** จำนวนแท่นพิมพ์ และขนาดแท่นพิมพ์ จำเป็นต้องทราบไว้ เพราะจำนวนแท่นพิมพ์จะมีผลต่อเรา ในเวลาที่ต้องการงานเร่ง งานด่วน เพราะนั่นหมายถึงขีดความสามารถในการพิมพ์งานในแต่ละล็อตของโรงพิมพ์ ถ้าแท่นพิมพ์มีมากกว่า 2 ก็นับว่าใช้ได้ ที่พอจะสับหลีกให้งานเราขึ้นแท่นพิมพ์ได้ ในกรณีที่ด่วนมาก ส่วนขนาดแท่นพิมพ์ ที่บอกว่า ขนาดตัดสอง หรือว่าตัดสี่นั้น ก็ถามไปให้รู้เป็นข้อมูล จะได้รู้ว่ากระดาษที่เขาจะนำขึ้นพิมพ์มีขนาดเท่าไหร่ มีผลต่อการกำหนดขนาดหนังสือของเราด้วย (ไว้จะเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของประเด็นนี้อีกที---อย่าลืมเตือนนะ) นอกจากนี้จำนวนสีที่โรงพิมพ์มีว่ามีความสามารถพิมพ์ได้กี่สี พื้นฐานแล้วมีสีเดียว สองสี สี่สี ห้าสี หกสี หรือว่าแปดสี ก็ว่ากันไป หากเป็นพวกงานโฆษณา ก็จำเป็นต้องพิมพ์สีเริ่ดๆ ก็อาจใช้แปดสีเต็มที่ แต่ว่างานพิมพ์หนังสือนั่นสีพิเศษสีที่ห้า ก็นับหรูแล้ว โดยมากจะใช้กันสี่สีนี่ล่ะค่ะ (แต่ก็ต้องถามไว้)


*** ระยะเวลาการพิมพ์ อันนี้ต้องถามกันล่วงหน้าเลยค่ะ ว่างานที่เราส่งไปนั้น จะใช้เวลาในการพิมพ์กี่วัน โดยปกติหลังจากที่สรุปเพลทกันเรียบร้อยแล้ว จะได้งานเป็นรูปเล่มหลังจากนั้น 4-7 วัน (กรณีนี้ไม่นับรวมจากวันที่เราส่งไฟล์เข้าร้านเพลทนะ เพราะบางทีก็มีการแก้งานดิจิตอลกันกระจาย แถมขั้นตอนงานปรูฟ ก็ใช่ว่าจะผ่านได้ ต้องดูสีกันวุ่นวาย อย่างน้อยๆ ก็ 3 -5 วันแล้วล่ะ)

*** ขั้นตอนการทำงาน บอกกันไปเลยว่าเราต้องการดูดิจิตอลปรู้ฟไหม ต้องการดูปรูฟกันกี่รอบ ต้องทำความเข้าใจกันให้เรียบร้อย เพราะบางครั้งโรงพิมพ์อาจบวกลบราคาจากการดูดิจิตอลปรู้ฟได้ บางสำนักพิมพ์มั่นใจในไฟล์ของตัวเองว่าไม่มีตกหล่นก็อาจให้ยิงปรูฟจริงออกมาเลย ก็จะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายในส่วนดิจิตอลออกไปได้ ควรตกลงกันก่อน

*** การขนส่ง ต้องแจ้งกันล่วงหน้าไปเลยว่าจะให้ขนส่งกี่ที่ บางที่จัดจำหน่ายเอง โรงพิมพ์อาจต้องขนส่งให้หลายที่และหลายเที่ยว อันนี้ก็ต้องตกลงกันไป

***มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเองหรือว่าเป็นโบรกเกอร์ อันนี้ต้องถามให้ชัวร์นะคะ เพราะมีหลายๆ บริษัทที่เป็นโบรกเกอร์หางานให้กับโรงพิมพ์ แน่นอนค่ะว่าราคาจะต้องถูกบวกเพิ่มมากกว่าการที่เราพิมพ์งานโดยตรงกับโรงพิมพ์แน่นอน นอกจากจะเสียเปรียบในส่วนนี้แล้ว การทำงานก็ต้องบวกเวลาเพิ่มอีกด้วย เพราะทำงานกันหลายทอด ต้องระวังดีๆ นะคะ ถามก่อนจะได้ไม่เสียรู้

การทำงานกับโรงพิมพ์เราก็ต้องแม่นในเรื่องสี และดัมมี่ของเราด้วย ตัว บก.เองจะต้องรู้ว่าโทนสีที่เราต้องการนั้นคือแบบไหน บางทีสีที่เราเลือกตอนงานปรูฟ เวลาพิมพ์ออกมาแล้วเป็นคนละเรื่องก็มี หลายครั้ง จะต้องไปดูงาน "ที่หน้าแท่น" หมายถึงการไปดูสีที่หน้าแท่นพิมพ์ ให้ช่างพิมพ์ ออกงานให้เราดูแล้วเลือกเลยว่าชอบสีนี้ไหม อยากให้ปรับสีไหนบ้าง จะได้ถูกใจคนทำมากที่สุดค่ะ

........................................