14.3.52

ได้ต้นฉบับมาแล้ว ต้องทำยังไง?

หากน้ำคู่ปลา ฟ้าคู่นก อย่างงั้น "ต้นฉบับ" ก็ต้องคู่กับบก. (พอได้น่ากับคำกล่าวอ้างนี้)
ทำไมฉันต้องกล่าวอ้างเฉกเช่นนี้...ก็เพราะหากไร้ซึ่งต้นฉบับ บก.ก็ไร้ซึ่งภาระหน้าที่ (ก็จะให้ทำอันใดเล่า ในเมื่อ บก.เกิดมาเพื่อจัดการต้นฉบับ)

อย่างที่ฉันเคยเล่าไปเมื่อตอนที่แล้ว ว่าต้นฉบับมาจาก 2 ทางด้วยกัน คือ หนึ่ง นักเขียนส่งแบบสำเร็จรูปเข้ามา สอง สำนักพิมพ์คิดโครงแล้วจ้างนักเขียน เขียนตามพล็อตที่วางไว้

ต้นฉบับทั้งสองแบบ มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ต้นฉบับสำเร็จรูป ได้เปรียบในเรื่องความสมบูรณ์ บางเล่มส่งมาก็พร้อมพิมพ์ได้เลย แต่มีข้อเสียที่ว่าบางส่วนบางตอน ไม่ตรงกับคอนเซ็ปต์สำนักพิมพ์ บางทีเราจะเข้าไปคอมเมนท์หรือแก้ไขอะไรก็ยาก เพราะ บก. ต้องให้เกียรตินักเขียน ไม่ใช่ว่าเราเป็น บก. แล้วจะแก้ไขงานใดๆ ได้เลย จะต้องพูดคุยกับนักเขียนก่อน ว่าแก้ได้หรือไม่ เพราะนักเขียนที่เขียนออกมา โดยมากมักเขียนตามพล็อตของตัวเองที่เขียนไว้ มันก็ไม่แน่เหมือนกันว่า ไอ้ส่วนที่เราของแก้ไขนั้น อาจเป็นไฮไลท์เด็ดของเขาก็ได้ ของอย่างนี้ต้องคุยกัน

หลายหนที่ฉันต้องขอปฏิเสธที่จะรับพิมพ์ต้นฉบับบางงานที่ส่งมา เพราะไม่ตรงกับแนวหนังสือที่สำนักพิมพ์วางไว้

เข้าใจนะคะว่าส่งงานมาแล้วก็ต้องการได้ฟีดแบ็กกลับไป บก.ก็พยายามทะยอยอ่านงานของแต่ละท่านให้ละเอียดที่สุดล่ะค่ะ หลายท่านทั้งโทรทั้งอีเมล์มาถามความคืบหน้า หารู้ไม่ว่าก้นบก.ร้อนเป็นไฟยิ่งกว่า เพราะต้องอ่านงานทุกชิ้่นที่ส่งมา (ตอนนี้ฉันเริ่มสบายขึ้นมานิด เพราะมีต้นฉบับจากนักเขียนส่งเข้ามาให้อ่านไม่ขาดสาย ขอบคุณทุกท่านที่ได้กรุณาส่งมาให้สำนักพิมพ์พิจารณา)

หากเป็นต้นฉบับที่ปั้นขึ้นเอง ในขั้นต้นนักเขียนจะต้องส่งบทแรกๆ มาให้ดู Mood & Tone ของงานเขียนก่อนว่าออกมาแบบไหน สไตล์ที่ฉันชอบมักจะเป็นการเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยความหนังสือของเราเป็นแนว business set-up: how-to ดังนั้นการจะมาเขียนเป็นหัวข้อ แล้วอัดเนื้อหาเข้าไปเป็นหน้าๆ คนอ่านมักจะเบือนหน้าหนีไปเสียก่อน

แนวที่สำนักพิมพ์วางไว้ก็คือ เรื่องต้องอ่านง่าย (ประหนึ่งกำลังจับเข่าคุยกันซึ่งหน้ากับผู้อ่าน) และเนื้อหาต้องครบครัน หรือไม่ก็ต้องชี้แหล่งที่ต่อยอดได้ให้คนอ่านได้ตามเรื่องต่อไป

โดยมากเรามักพิมพ์งานในโปรแกรม word มาในเอกสารขนาด A4 ฉันจะเริ่มอ่านต้นฉบับตามรูปแบบที่นักเขียนส่งมาให้ก่อน จากนั้นค่อยปรับเอกสารนั้นเป็นขนาด A5

ทำไมต้อง A5????

ก็เพราะรูปเล่มของหนังสือเล่มที่เราๆ เรียกกันว่า พ็อกเก็ตบุ๊กนั้น เป็นขนาด A5 หากฉันปรับเป็นขนาดเท่านี้ ภาพของหนังสือเล่มที่ฉันกำลังจะทำก็ชัดเจนขึ้น

เชื่อไหม ว่าการอ่านจากขนาด A4 แล้วปรับมาเป็น A5 จะให้อารมณ์การอ่านที่แตกต่างกัน เพราะหลังปรับขนาด ฉันจะวางจะเคาะตัวหนังสือให้พอดีหน้า หรือไม่ก็เริ่มวางรูปแบบหนังสือว่าหน้าตาเนื้อในจะออกมาในรูปแบบใด หน้าไหนจะวางรูปแบบเปิด 2 หน้า หรือว่าหน้าไหนจะเปิดเพียงหน้าเดียว

ขั้นตอนการเกลี่ยหน้า A5 นี้ ตอบคำถามฉันได้หมด ว่าสรุปแล้วหนังสือเล่มนี้จะมีกี่หน้า ครบยกหรือไม่ (จะเล่าให้ฟังอีกทีว่า "ยก" หรือ "หน้ายก" คืออะไร) ถ้าไม่ครบ ฉันจะต้องเพิ่มอะไรเข้าไปอีก หรือว่าถ้าต้องการแทรกหน้าสีเข้าไป ควรจะแทรกหน้าไหน ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญของฉันเลยล่ะ เพราะฉันสามารถวางแผนเรื่องจำนวนหน้าหนังสือได้ หากหน้าเยอะไป ก็จะขอให้นักเขียนช่วยตัดให้ และถ้าพบว่าหน้าน้อยเกินไป ก็จะดูก่อนว่าเพิ่มอะไรเข้าไปได้บ้าง ทั้งภาพประกอบ ทั้งคำโปรย หรือว่าจะให้นักเขียนช่วยเขียนเพิ่ม

การเกลี่ยหน้านี้นับเป็นคัมภีร์ "ดัมมี่" ของฉันเลย (ดัมมี่ คำๆ นี้ในวงการหนังสือหมายถึงเอกสารที่แจ้งให้ทราบว่าในหนังสือที่กำลังจะทำมีกี่หน้า และแต่ละหน้ามีอะไรบ้าง มีสีหน้าไหน มีภาพหน้าไหน เพื่อช่วยให้ทางร้านเพลทและโรงพิมพ์รู้ได้โดยไม่ต้องไปนั่งเปิดงานดู)

การเกลี่ยหน้าไว้เบื้องต้นนี้ จะช่วยให้กราฟฟิกทำงานได้ง่ายด้วย เพราะไม่ต้องไปนั่งเดาว่าจะตัดเนื้อหาแต่ละหน้าอย่างไร เพราะฉันจัดการเฉลี่ยให้เห็นเบื้องต้นแล้ว กราฟฟิกก็ยึดใบปริ้นท์งานที่ฉันแนบส่งไปพร้อมไฟล์งาน แล้ววางเนื้อตามที่ฉันไกด์ไว้ก่อน ทั้งนี้หากไปปรับในหน้างาน pagemaker หรือว่า indesign แล้ว ยังมีพื้นที่เหลือ ก็ให้ยืดหยุ่นได้ ตามความเหมาะสม ฉันว่าวิธีนี้ จะช่วยกราฟฟิกให้ทำงานง่ายขึ้น

หรือว่าอย่างไรพี่เก่งและน้องตั้ม?

ถามว่าบก.ต้องอ่านต้นฉบับกี่เที่ยว เอาแบบคร่าวๆ นะคะ

ครั้งแรกก็อ่านตอนพิจารณาต้นฉบับ ซึ่งบางครั้งอ่านแบบเอาความให้ได้กลิ่นว่าต้นฉบับนี้เกี่ยวกับอะไร น่าอ่านน่าติดตามหรือไม่

ครั้งที่สองก็อ่านหลังจากมีการปรับแก้ตามที่ไกด์กลับไปให้นักเขียน

ครั้งที่สามอ่านตอนที่ปรับเป็นหน้า A5

ครั้งที่สี่ อ่านหลังปริ้นท์ออกมาในกระดาษ (เพราะอ่านได้คนละอารมณ์กับไฟล์ ทำให้รู้ผิดรู้ถูกมากกว่าอ่านจากหน้าจอ)

ครั้งที่ห้า อ่านหลังจากที่กราฟฟิกส่ง Lay out ดราฟท์แรก

ครั้งที่หก อ่านละเอียดในรอบที่กราฟฟิกส่ง Art work (เป็นการอ่านก่อนส่งโรงพิมพ์ หากมีที่ผิดก็ต้องแก้ก่อนส่ง ไม่งั้นโดนร้านเพลทและโรงพิมพ์บ่นแน่ ที่สำคัญเขาจะมองว่าเราไม่มืออาชีพเอาเสียเลย)

ครั้งที่เจ็ด อ่านในรอบที่ร้านเพลทส่งงานปริ้นท์ดิจิตอล (ดูว่ามีที่ผิดหลงหูหลงตาไหม)

ครั้งที่แปด อ่านรอบที่ส่งงานปรู้ฟจริง (ดูว่าร้านเพลทแก้มาถูกต้องหรือไม่ กรณีมีแก้งานดิจิตอล บางครั้งการวางงานในรอบนี้ก็มีผิดพลาด อย่างผิดฟ้อนท์ หรือว่าวางรูปผิด อะไรก็เกิดขึ้นได้ อ่านรอบนี้อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่ลงชื่อให้ผ่าน หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ผู้ลงชื่อต้องรับผิดชอบ ซึ่งก็คือตัว บก.เอง)

ครั้งที่เก้า หลังโรงพิมพ์ส่งเป็นเล่ม เราก็ต้องมาอ่านอีก เพราะมันได้อีก feel นึง ฉันจะทนุถนอมหนังสือที่ออกมาราวกับลูกน้อยก็ไม่ปาน เปิดอ่านแล้วอ่านอีก เปิดหน้านั้นหน้านี้ ลูบๆ คลำ ใครจะหาว่าเห่อก็ยอมล่ะ เพราะกว่าฉันจะคลอดหนังสือเล่มนึงออกมาได้ ใช้เวลาหลายเดือน และใช้ความทุ่มเทเกินร้อย เห็นเป็นเล่มออกมา แล้วมันชื่นใจ...

อยากให้คุณๆ ได้มารู้สึกด้วยกัน ว่าเวลาเห็นหนังสือที่ตัวเองทำออกไปวางขาย โชว์ตามหน้าร้านหนังสือ มันปลื้มมากมายแค่ไหน

คนที่รู้สึกได้มากๆ ก็อย่างเช่น นักเขียน และทีมงานกองบรรณาธิการ ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

ฉันจะส่งหนังสือให้กับทุกคนในทีม เพราะเก็บไว้เป็นความทรงจำดีๆ ร่วมกัน...

13.3.52

ประเภทของบรรณาธิการ



วันนี้ฉันจะขอนำงานเขียน "กว่าจะเป็นหนังสือ" ของคุณวิริยะ สิริสิงห ซึ่งเป็นกูรูด้านการทำหนังสือ ปัจจุบันท่านไม่ได้อยู่แล้ว นับเป็นการสูญเสียบุคคลผู้ทรงคุณค่าในวงการหนังสือ...ขอไว้อาลัยและขออนุญาตนำงานของท่านมาเผยแผ่ดังต่อไปนี้

บทบาทและหน้าที่หลัก

--- ตัดสินใจว่างานใดที่สมควรจัดพิมพ์ เสาะหางานเขียนดีๆ
--- ส่งเสริมนักเขียน ประสานงานกับเจ้าของงานเขียน

--- รับผิดชอบงานเปิดตัว และส่งเสริมการจำหน่าย

--- ดำเนินการแปลงต้นฉบับให้ออกมาเป็นงานพิมพ์ โดยมีจุดมุ่งหมายทำให้เนื้อหา หรือบทความของผู้เขียนสะดวก ถูกต้อง และชัดเจนแก่ผู้อ่านในการเข้าถึงสาระของเนื้อหาเหล่านั้น

ทักษะและความรู้ที่บรรณาธิการต้องมี ประกอบไปด้วย 4 ด้านดังนี้
--- ความรู้เรื่องภาษา เพราะจะต้องใช้ในการตรวจแก้ภาษาของงานเขียนที่ผ่านเข้ามา นั่นคือ บรรณาธิการต้องอ่านเป็น เขียนเป็น และตรวจแก้ภาษาเป็น
--- ต้องมีความรู้เรื่องการทำหนังสือ (เรื่องนี้ฉันจะขยายความต่อในบทความต่อไปว่าต้องรู้เรื่องใดบ้าง)
--- ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น (คือใช้เทคโนโลยีได้นั่นเอง)
--- ต้องบริหารคน บริหารงาน และจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอววว...หน้าที่ช่างกว้างและดูยิ่งใหญ่นัก แล้ว อย่างนี้คนๆ เดียวจะทำได้รึ ไปดูกันต่อดีกว่า ว่าถ้าคนเดียวทำไม่ได้ จะมีตัวช่วยอย่างไรบ้าง

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดบรรณาธิการในหลายๆ รูปแบบ เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เท่าที่มีใช้ในปัจจุบันก็ประกอบไปด้วย
--- บรรณาธิการบริหาร/บรรณาธิการอำนวยการ (Editor in Chief) เป็นบรรณาธิการใหญ่ ดูแลภาพรวมของการทำหนังสือทั้งระบบ
--- บรรณาธิการจัดการ (Managing Editor) ดูแลเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ลงลึกในเนื้อหาของหนังสือ
--- บรรณาธิการทั่วไป (General Editor) ส่วนมากเป็นตำแหน่งลอย คอยให้ความช่วยเหลือบรรณาธิการประเภทอื่นๆ อาจจะเรียกว่า บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
--- ผู้ช่วยบรรณาธิการ (Assistant Editor) หนังสือเล่มหนึ่งมีได้หลายๆ คน (แล้วจะให้ช่วยในส่วนใด)
--- บรรณาธิการมอบหมาย (Commissioning Editor) เป็นบรรณาธิการที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานใดงานหนึ่ง หรือโครงการใดโครงการหนึ่งเป็นการเฉพาะ
--- บรรณาธิการที่ปรึกษา (Consultant Editor) ในหนังสือหรือนิตยสาร สามารถมีได้ไม่จำกัด
...เอ...แล้วฉันจะเป็นบรรณาธิการในรูปแบบไหนล่ะนี่ ทำไปทั่วมั่วไปหมด เป็น Multi-function Editor ไง บรรณาธิการเบ๊ เก๋ซ้าาาาาาาาา

Editor Pom

12.3.52

หน้าที่ของบรรณาธิการ ภาค 2






มาต่อกันกับหน้าที่ของบรรณาธิการนะคะ...คราวที่แล้วเราพูดกันถึงพิสูจน์อักษร ครานี้มาดูกันต่อค่ะว่าหน้าที่ต่อไปของ บก. คืออะไร

หาโรงพิมพ์และเจรจาต่อรองราคา
ใช่แล้วค่ะ หน้าที่ในการหาโรงพิมพ์และเจรจาต่อรองราคา เป็นหน้าที่ของ บก.ค่ะ บางที่อาจเป็นหน้าที่ของเจ้าของสำนักพิมพ์ แต่ที่นี่ บก.ต้องหาโรงพิมพ์และจัดการเจรจาต่อรองราคาให้ได้ตามราคามาตรฐานที่สำนักพิมพ์เคยจ้างพิมพ์

การหาโรงพิมพ์ไม่ยากหรอกค่ะ โดยมากโรงพิมพ์มักเป็นผู้ติดต่อเข้ามา ส่วนมากฉันมักจะเชิญเข้ามาพูดคุยพบหน้าค่าตากันก่อน ตัวแทนจากโรงพิมพ์มีหลากหลายไล่เรื่อยมาตั้งแต่ เจ้าของโรงพิมพ์ ผู้จัดการ ไปจนถึงเซลล์ที่เป็นตัวแทนขายงานพิมพ์

เนื้อความในการพูดคุยก็มีตั้งแต่ขนาดโรงพิมพ์ ขนาดแท่นพิมพ์ จำนวนสีที่โรงพิมพ์สามารถพิมพ์ได้ (สีเดียว สองสี สี่สี ห้าสี หกสี แปดสี แล้วแต่ความทันสมัยของแต่ละที่) การบริการ การขนส่ง เครดิตการชำระเงิน เป็นต้น เหล่านี้เราต้องทำความเข้าใจกันเบื้องต้น เพราะข้อเจรจาในวันนี้ จะเป็นข้อตกลงเบื้องต้น ที่ผูกมัดกันทั้งสองฝ่าย ฉันมักปิดท้ายด้วยการแจ้งให้แต่ละโรงพิมพ์ทราบว่า จะต้องส่งตัวอย่างหนังสือ 20 เล่ม เป็นของแถมให้กับสำนักพิมพ์ เพื่อจะได้นำไปแจกจ่ายเป็นผลงานให้กับทีมงาน จะได้ไม่ต้องไปเบียดบังกับยอดพิมพ์ที่พิมพ์มาพอดีกับจำนวนที่ร้านค้าสั่ง

ดูคุณภาพสีและตรวจความเรียบร้อยของงานก่อนพิมพ์
หลังเลือกโรงพิมพ์แล้ว ราคาตกลงกันได้เรียบร้อย ก็เป็นขั้นตอนการส่งงานโรงพิมพ์ (ฉันจ้างเหมาทั้งค่าพิมพ์และค่าเพลท ดังนั้นโรงพิมพ์จะเป็นผู้ส่งงานให้ร้านเพลทจัดการออกงานดิจิตอลและงานปรู๊ฟ) งานแรกที่ร้านเพลทจะส่งมาให้คืองานปริ๊นท์ดิจิตอล เขาจะส่งมาให้ดูว่าตัวอักษรกระโดดไหม ภาพเคลื่อนผิดที่ผิดทางหรือไม่ ฟ้อนท์ที่ปริ๊นท์ออกมาใช่ฟ้อนท์เดียวกันกับที่เราส่งไปไหม เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องตรวจดูว่ามีข้อความผิดหลงหูหลงตาหรือไม่ รอบนี้ต้องให้ความสำคัญ ช่วยกันตรวจดีๆ นะคะ หากพบข้อผิดพลาดยังพอแก้ได้ทัน แต่ถ้าหากพ้นขั้นตอนนี้ไปแล้ว ก็ต้องเสียเงินล่ะค่ะ

ขั้นตอนที่ว่านั้นคือการออกปรู๊ฟ ซึ่งนำไปลงเพลทแล้วทำปรู๊ฟออกมา หากมีข้อผิดพลาด มันหมายถึงการแก้เพลท หากเป็นเพลทขาวดำราคาก็ไม่ถึงหนึ่งพันบาท แต่ถ้าหากเป็นเพลทสี ก็จงเตรียมเงินหลายๆ พันไว้จ่ายค่าเสียหายเถิด รับรองงานเข้าแน่ๆ

หากงานใดเป็นสี จะต้องดูว่าสีที่ทางร้านเพลทออกมาให้นั้น เป็นสีเฉดเดียวกับที่เราต้องการหรือไม่ บางครั้งเราก็นำมาเทียบกับชาร์ตสี แต่ก็ไม่สามารถเชื่อได้ 100% เพราะกระดาษและคุณภาพงานพิมพ์กระดาษชาร์ตสีนั้นต่างกัน ทางที่ดี ให้แนบงานสีที่เราชอบใจไปเป็นตัวอย่าง แล้วให้ช่างเพลทเทียบสีตามนั้นเลยดีกว่า เราสามารถสั่งปรับลดสีได้ โดยอาศัยแม่สี 4 ตัวคือ CMYK อันได้แก่ ฟ้า แดง เหลือง ดำ เป็นมาตรฐาน จะลดดำ ลดแดง หรือว่าเพิ่มฟ้า ก็เลือกได้ตามใจ (ต้องเก๋าในการดูสีพอสมควรถึงจะสั่งให้เพิ่มลดสีนั้นสีนี้ได้ เพราะการจะรู้ว่าสีไหนขาด เติมสีไหนจะได้สีอ่อนเข้มขึ้น ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพอสมควร) ทางที่ดี ฉันว่าเลือกเอาตัวอย่างสีที่เราชอบแล้วส่งไปเทียบจะชัวร์มากที่สุด

หลังงานเพลท เรามีสิทธิ์ที่จะเพิ่มลดสีให้สดมากขึ้น ด้วยการไปคุมสีที่หน้าแท่นพิมพ์ได้ หากโรงพิมพ์ไหนไฮเทคก็จะมีแท่นพิมพ์แบบควบคุมด้วยคอมพิมพ์เตอร์ จะเพิ่มลดสีตรงไหนก็ได้อย่างใจสั่ง ฉันเลือกที่จะไปดูสีที่โรงพิมพ์เป็นบางปก ถ้าไปดูทุกปกก็ไม่เป็นอันทำการทำงานอื่นๆ กันล่ะ เพราะโรงพิมพ์ไม่ใช่อยู่ใกล้ๆ ส่วนใหญ่ก็กระจุกตัวอันอยู่แถวฝั่งธนบุรีโน่น

พองานพิมพ์เสร็จก็มานั่งรอลุ้นกันล่ะค่ะ ว่าหนังสือจะออกมาเรียบร้อยไหม หลายทีหลายหนสีที่พิมพ์ออกมา หลังจากที่นำไปเคลือบพีวีซีด้าน หรือว่าสปอตยูวี ก็จะทำให้สีเพี้ยนได้ ดังนั้นคนเป็นบก. จะต้องให้ความสำคัญทุกขั้นตอนของการผลิตกันเลยทีเดียว

จัดประชาสัมพันธ์ หารือการวางหนังสือ และจัดงานเปิดตัวหนังสือ
หากสำนักพิมพ์ไม่มีแผนกพีอาร์คอยดูแล บก.ก็ต้องจัดแจงส่งหนังสือไปให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือให้ผ่านหูผ่านตาคนอ่าน โดยมากที่ได้ผลก็ตามคอลัมน์หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ส่วนรายการทีวี นานๆ จะเวียนมาถึงทีของเรา สำหรับสำนักพิมพ์ที่นี่ดีหน่อยที่จ้างพีอาร์เอเจนซี่คอยดูแล เมื่อหนังสือออกมา ก็ต้องกันหนังสือจำนวนนึงให้พีอาร์นำไปแจกให้กับสื่อมวลชน

หากเล่มไหนเป็นไฮไลท์ที่คิดว่าจะน่าจะขายได้ในวงกว้าง ก็จะปรึกษาหารือกับพีอาร์และการตลาด เพื่อจัดงานเปิดตัวหนังสือ ซึ่งรูปแบบและสถานที่ก็ขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ของเล่มนั้นๆ บางงานบก.เป็นแม่งาน ที่คอยประสานงาน และจัดเตรียมงาน บางงานก็ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาดเป็นคนดูแล

นอกจากนี้ก็ร่วมวางแผนการขายหรือว่าติดตามช่องทางการขายว่าเวิร์กสำหรับหนังสือเล่มนั้นหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการมองลู่ทางการผลิตหนังสือเล่มต่อไป

นี่คือภาระหน้าที่คร่าวๆ ของคนเป็นบรรณาธิการ ซึ่งได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าแต่ละที่ก็ทำงานแตกต่างกันไป อย่างที่นี่ บก.มีหน้าที่ในการควบคุมงบประมาณในการผลิตหนังสืออีกด้วย

อย่าเพิ่งเหนื่อยกันนะคะ ดูเหมือนมีหน้าที่เยอะ แต่ความจริงแล้ว มันคือระบบที่หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ พยายามจัดคิวงานอย่าให้ชนกันมากก็ถือว่าใช้ได้แล้วล่ะค่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การจัดการของเราเอง

บ่อยครั้งที่เพื่อนๆ มาถามว่างานยุ่งไหม ฉันมักจะตอบไม่ยุ่ง เพราะการตอบว่ายุ่ง เป็นเหมือนการแช่งตัวเอง คนเราพูดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ต่อให้ยุ่งแค่ไหน ถ้าเรามองว่าไม่ยุ่ง มันก็คือไม่ยุ่งล่ะค่ะ มองโลกในแง่ดีเข้าไว้ แล้วอะไรๆ จะดีขึ้นเอง

คราวหน้ามาว่ากันต่อ อยากรู้เรื่องอะไรอย่าลืมทิ้งคำถามไว้นะคะ
ฝันดีค่ะ
Editor Pom

11.3.52

หน้าที่ของบรรณาธิการ



ทราบกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าบรรณาธิการ (บก.)คือใคร...


วันนี้เรามารู้จักหน้าที่ของบก.กันค่ะ ว่าทำอะไรบ้าง (กรณีศึกษาจากตัวของ editorpom)


บางคนอาจจะบอกว่า วันๆ เห็นแต่รับโทรศัพท์ เดินไปเดินมา แถมด่ากราดอีกต่างหาก...(อันนี้ก็มีกันบ้างในกรณีที่มันมาคุ)


ฉันจะค่อยๆ เล่าในแต่ละหน้าที่ พร้อมกับสอดแทรกเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คุณๆ ได้เห็นภาพไปพร้อมๆ กันนะคะ


หน้าที่หลักๆ ที่ทำกันในทุกเมื่อเชื่อวันของฉันก็คือ
เสาะแสวงหาต้นฉบับมาตีพิมพ์

อันนี้เป็น priority อันดับ 1 เลยละค่ะ ถ้าไม่มีต้นฉบับ ก็นับว่าสิ้นทางทำมาหากินกันเลยทีเดียว ฉันยังจำได้ ในห้วงเวลาที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหมาดๆ ที่สำนักพิมพ์แห่งนี้ ว่าการได้มาซึ่งต้นฉบับนั้นลำบากยากเย็นแสนเข็ญสักเพียงใด ด้วยความที่กระโดดข้ามจากวงการอาหารและการท่องเที่ยว ปีนป่ายเข้าสู่วงการบันเทิงเกาหลี แล้วค่อยเร็วรี่เข้ามาที่แวดวงหนังสือ How-To ทางด้านธุรกิจและการใช้ชีวิต ไม่อยากจะเอ่ยว่าเลือดตาแทบกระเด็น เพราะต้องมานับหนึ่งใหม่ ใช้ทุกเครือข่ายเท่าที่พอจะหาได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน กราฟฟิก พิสูจน์อักษร หรือว่าแหล่งข้อมูลต่างๆ (ซึ้งมากกับคำว่า connection)

ในช่วงต้นที่ทำงาน ฉันต้องปั้นหนังสือตั้งแต่ตัวอักษรตัวแรกกันเลยทีเดียว เพราะเข้ามาแบบเริ่มต้นจาก 0 จริงๆ ต้องคิดประเด็น ว่าธุรกิจไหนฮอต อันไหนอยู่ในความสนใจ หรือว่ามีแนวโน้มจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในอนาคต...คุณคะ จากที่วิ่งตามนักร้องเกาหลี ต้องมาตาเหลือกกับแวดวงธุรกิจ คิดว่าความคิดจะหมุนติ้วได้สักกี่องศาละคะ

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ใครเขาจะรู้จักสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ชื่อ busy-day ละคะ ที่พอจะมีพื้นที่ยืนบนชั้นหนังสือได้ก็มีหนังสือทำอพาร์ตเมนท์ให้รวย และผมคือนักบิน ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก ไม่มีนักเขียนคนไหนหาญกล้ามาส่งต้นฉบับให้พิจารณา เวรกรรมก็ตกอยู่ที่ บก. นะสิ ที่ต้องปัน content เอง

การได้มาซึ่งต้นฉบับสำหรับตีพิมพ์นั้น ฉันพอจะแบ่งแยกย่อยออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง นักเขียนส่งต้นฉบับแบบสำเร็จรูปมาให้พิจารณา (แบบนี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ฉันใฝ่ถวิลหามากกกกกกกกกกกกกกก)

สอง สำนักพิมพ์คิดพล็อตเรื่องแล้วหานักเขียน เขียนตามโครงที่วางไว้

แบบที่หนึ่ง แน่นอน...อย่างที่ฉันแอบกระซิบไว้ในเบื้องต้น ว่าเป็นแบบที่ฉันปรารถนามากที่สุด ก็อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นอีกละค่ะว่า สำนักพิมพ์เล็กๆ นักเขียนหน้าไหนจะกล้านำต้นฉบับมาเสนอ จะอยู่จะไปวันนี้วันพรุ่งก็ไม่มีใครรู้ ฉันจึงได้แต่ภาวนา เฝ้าคอย และแอบเหงาหงอยเล็กน้อย ว่าวันนึงจะเป็นวันของฉัน วันที่มีต้นฉบับไหลมาเทมา (มีอยู่ครั้งนึง ฉันได้เปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ที่เป็นนวนิยายสำหรับวัยรุ่น ภายในเว็บมีหัวข้อ "ต้นฉบับ" ไว้ด้วย พร้อมกับมีตัวเลขกำกับว่า ต้นฉบับพร้อมรอพิจารณา 369 เรื่อง....โอ้ววววววววว อกอีป้อมจะแตก เมื่อไหร่จะมีแบบนี้กับเขาบ้าง ขอเพียงเลขท้ายตัวเดียวฉันก็พอใจแล้ว)

แบบที่สอง นับว่าโหดหินมากกกกก ก็อย่างที่พูดไปแล้วล่ะค่ะ ว่าต้องคิดเอง (เออเอง) ว่าอันไหนจะเด่น จะดัง อันไหนน่าจะทำได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความน่าจะเป็นในช่วงปี 2550 โจทย์ของฉันก็คือธุรกิจที่ขนาดไม่ใหญ่นัก เข้าข่าย SMEs แบบที่คนทั่วไปในสังคม มีกำลังทรัพย์พอที่จะลงทุนตามได้ และที่สำคัญ จะต้องไม่เป็นธุรกิจที่เกร่อกันมาก ตอนนั้นแต่ละวันของฉันหมดไปกับการท่องเน็ต และเดินทางไปตามถนนสายต่างๆ สายตาก็จะเหลือบมองไปตามริมทางที่เป็นอาคารพาณิชย์ต่างๆ ว่าเขามีธุรกิจอะไรกันบ้าง ฉันก็เก็บรายชื่อไว้ เพื่อเป็น database ของตัวเอง

เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ ฉันได้รายชื่อของธุรกิจประเภทต่างๆ กว่า 50 รายการ ค่อยๆ มาคัดออกเพื่อนำส่งนายทุนที่เป็นผู้ออกสตางค์พิมพ์ ให้เขาได้เลือกว่าชอบใจในธุรกิจตัวใด ในระหว่างที่เสาะแสวงหาธุรกิจที่จะนำมาทำเป็น business set up:How-To แล้ว ฉันยังต้องหาอาชีพในฝันของหนุ่มสาวในสมัยนี้ ว่ามีอาชีพใดอยู่ในความน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจซื้อหาไปอ่าน

แน่นอนล่ะค่ะ การทำงานต้องทำแบบคู่ขนาน สมองซีกหนึ่งคิดเรื่องธุรกิจ อีกฟากหนึ่งก็ตามหาอาชีพในฝัน (ตอนนั้นมีระยะเวลาทดลองงานเป็นตัวบีบอีกต่างหาก เพราะเวลาเรื่อยมาถึง 2 สัปดาห์แล้ว) และได้โปรดอย่าถามว่า ฉันไม่มีกองบรรณาธิการคอยช่วยหาข้อมูลบ้างเหรอ

ที่นี่เป็นระบบ outsource หมดค่ะ ด้วยเหตุที่ว่ายังเป็นสำนักพิมพ์เพิ่งแตกเปลือกไข่ ก็เลยต้องจำกัดเรื่องคน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ฉันจึงมาในตำแหน่ง บก. ที่ทำหน้าที่แบบบ้านๆ ว่า multipurpose หรือที่เรียกยากๆ ตามภาษาไฮโซว่า เบ๊

จากรายชื่อ 30-50 ประเภทธุรกิจแลอาชีพในฝัน ถูกคัดเหลือเพียง 2-3 รายชื่อเท่านั้น เข่าอ่อนทรุดฮวบเลยล่ะค่ะตอนนั้น แม่ม...ทำมาตั้งเยอะแยะแต่ได้เท่านี้ แต่ก็ยังดีที่มีพอเข้ารอบ

เขียนพล็อตหรือโครงเรื่อง

หลังจากได้ชื่อธุรกิจ ฉันก็ต้องมานั่งเขียนพล็อตเรื่องว่าหนังสือที่เล่าเรื่องการจัดตั้งธุรกิจเล่มนี้ เนื้อหาจะประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง ฉันเริ่มที่ธุรกิจแรก "โรงเรียนกวดวิชา" แล้วก็แอบเติมสร้อยคำเพื่อเป็นจุดขายหนังสือตามเข้าไปอีกว่า "พารวย"

ไอ้เราก็มาจากสายบันเทิงเริงใจ ลัลล้ากับดาราเกาหลีมาพักใหญ่ๆ จู่ๆ มากระโดดใส่โลกธุรกิจ ก็ต้องดิ้นสูบความรู้เข้าหัวให้มากที่สุด (อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นเลยว่า คิดจะเป็น บก. ต้องสูบข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด อะไรที่ไม่รู้ให้รีบขวนขวาย ไม่งั้นจอด)

ฉันเสนอพล็อตเรื่องไปเสร็จสรรพเรียบร้อย พร้อมกับรับคอมเมนท์จากนักธุรกิจตัวจริงว่าข้างในต้องเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง ก็นับว่าสร้างความเชื่อมั่นได้พอสมควร ขั้นต่อไปที่ต้องทำคือ

ค้นหาตัวนักเขียน

งานนี้ก็หินไม่เบา เพราะนักเขียนที่เรารู้จักส่วนใหญ่ก็เป็นพวกที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน จะให้ไปติดต่อกับนักเขียนใหญ่ๆ ดูราคาค่าจ้างแล้ว คงไม่สมศักดิ์ศรี ว่าแล้วก็กวาดสายตาจากลิสต์รายชื่อต่างๆ ใน MSN เจอกับชื่อเพื่อนที่เป็นนักคอลัมนิสต์ เป็นมือสัมภาษณ์ ใช่เลย คนนี้ล่ะที่จะช่วยฉันให้รอดในงานนี้

วิธีการหาตัวนักเขียนตามสไตล์ฉันมีหลายแบบด้วยกัน

ประการแรกก็หาจาก connection ใกล้ตัวก่อน ว่าในรัศมีที่มีรายชื่อทั้งในโทรศัพท์ อีเมล์ หรือว่า MSN มีใครบ้างที่อยู่ในแวดวงนี้

ประการที่สอง ตรงดิ่งไปที่ร้านหนังสือ แล้วเปิดหารายชื่อนักเขียนที่เขียนแต่ละเล่มเลยค่ะ สนใจคนไหน ก็ติดต่อไปที่สำนักพิมพ์นั้นๆ เลย หลายๆ ต่อหลายท่านเป็นนักเขียนอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อสำนักพิมพ์ โอกาสที่เราจะได้คนที่มีฝีมือมาช่วยเขียนก็มีมากขึ้น

แน่นอนค่ะวิธีที่หนึ่งย่อมเหมาะกับห้วงเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ฉันจัดการโทรหาเพื่อนสาวที่เป็นคอลัมนิสต์ให้ช่วยรับงานนี้ไปจัดการที ด้วยคอนเซ็ปต์ที่วางไว้คือเป็นผู้สัมภาษณ์แหล่งข่าว แล้วนำมาเรียบเรียง คนนี้ล่ะเหมาะสมที่สุด (ใช่ไหมหน่อง)

ติดต่อแหล่งข้อมูล

และแล้วเพื่อนรักก็ตอบตกลงที่จะรับงานนี้ งานต่อไปของ บก. (ที่ไม่มีกองบรรณาธิการช่วยเหลือ) ก็คือ การคัดเลือกและติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล

ขั้นตอนนี้อย่าคิดว่าจะได้มาง่ายๆ นะคะ เพราะในหนังสือ 1 เล่มของฉัน จะต้องมีแหล่งข้อมูลไม่ต่ำกว่า 3 ที่ ซึ่งก่อนจะได้รับการยินยอม 3 ที่นี้ ฉันมีลิสต์รายชื่อของผู้ที่เข้าข่ายเป็นแหล่งข้อมูลกว่า 10 ที่

ฉันต้องติดต่อไปทั้ง 10 ที่เพื่อที่จะขอเข้าพบ พูดคุย เสนอโปรเจ็กต์ หว่านล้อม ชักแม่น้ำทั่วโลกมาโชว์ เพื่อให้เขาเห็นคล้อยที่จะยอมคายข้อมูลอันมีค่ามหาศาลออกมาตีแผ่ให้คนอื่นๆ ได้ทราบเคล็ดลับความสำเร็จในธุรกิจนั้นๆ คุณคิดว่าง่ายไหมล่ะ ที่จะหาใครสักคนมาเล่าเรื่องราวความสำเร็จของตัวเองแบบหมดพุง เหมือนการแบไต๋ถอดเสื้อผ้าให้คนอื่นเห็นเครื่องในยังไงยังงั้น

แต่สุดท้ายก็มีนักธุรกิจวิสัยทัศน์กว้าง ที่มองเห็นว่า ธุรกิจเป็นศาสตร์ ที่ใครๆ ก็มีสิทธิ์เรียนรู้ หากแต่การบริหารให้รอดต่างหากคือศิลปะ ที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ หลังจากที่ตระเวนออกไปพบผู้คนอีกกว่า 2 สัปดาห์ ฉันก็ได้มาซึ่งแหล่งข่าว

ในวันแรกที่นัดนักเขียนไปพบแหล่งข่าว ฉันผู้ซึ่งเป็น บก. จะต้องไปกับนักเขียนด้วย เพราะเป็นแม่งานที่เชื่อมระหว่างคนทั้งคู่เข้าด้วยกัน (โอวววว...ออกข้างนอกบ่อยๆ แบบนี้ งานในออฟฟิศส่วนอื่นไม่บานเหรอเพ่...)

และแล้วคู่ตุนาหงันทั้งสองฝ่ายก็ได้เจอกัน จากนี้ไปฉันก็รอวันที่จะรับต้นฉบับจากนักเขียน ที่นำบทสัมภาษณ์และข้อมูลต่างๆ มาร้อยเรียงกัน

ในเบื้องต้น ฉันต้องขอดูก่อนบทแรก เพื่อดูแนวทางการเขียนของนักเขียน ว่าเป็นไปตามแนวทางที่เราวางไว้หรือไม่ หากไม่ใช่ก็ต้องปรับ เพราะบทแรกนี้จะเป็นแม่แบบของการเขียนไปตลอดทั้งเล่ม จะยากหน่อยก็การสื่อสารให้นักเขียนรู้ว่าเราต้องการแบบไหน บก. เองก็ต้องแม่นข้อมูลและเข้าถึงอารมณ์ของงานเขียนนั้นๆ เพื่อที่จะคอมเมนท์นักเขียนได้ถูกจุด

ระยะเวลาในการเขียนงาน ส่วนมากฉันจะมีเวลาให้อ้อยอิ่งได้ราว 2 เดือน (นี่มันจะสิ้นเดือนแล้ว ฉันยังไม่มีต้นฉบับเลย ฮือๆๆ) หากนักเขียนมีประสบการณ์ในการเขียน ก็ถือว่าเป็นบุญของ บก. แต่หากเขียนยังไม่เข้าเค้า ก็ต้องเหนื่อยกันหน่อย (เดี๋ยวจะมีบทความที่เกี่ยวข้องกับนักเขียนโดยตรง ให้เห็นกันไปเลยว่านักเขียนมีกี่แบบ เล่ห์เหลี่ยม และความเจ็บปวดที่ บก. ได้รับบทเรียนจากนักเขียนประเภทต่างๆ มีอะไรบ้าง)

ควานหากราฟฟิกช่วยจัดหน้า

กราฟฟิกหรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิก คือคนที่จะมาเนรมิตตัวหนังสือในขนาด A4 ให้เปลี่ยนไปอยู่ในกระดาษตามขนาดที่ บก. ต้องการ (เดี๋ยวคุยกันอีกทีเรื่องขนาดหนังสือ) เขาหรือเธอที่ฉันนึกถึงในขณะนั้น ก็คือบรรดากราฟฟิกที่เคยทำงานกับฉันมาแล้วทั้งนั้น ฉันไม่กล้าเรียกใช้คนใหม่ๆ เพราะเวลาทำงานค่อนข้างสั้น ต้องร่วมงานกับคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น ไม่แปลกเลยที่ช่วงแรก กราฟฟิกรอบๆ ตัวฉัน จะได้รับการทาบทามให้มาช่วยกันจัดหน้ากันอย่างทั่วถึง

วิธีการหากราฟฟิกฟรีแลนซ์ ก็มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบค่ะ คือแบบควานหาคนใกล้ตัว กับประกาศหาในอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องใช้เวลาในการสัมภาษณ์ทำความรู้จัก และออกแบบมาให้ดูกันประมาณหนึ่ง เพราะแต่ละคนเคยผ่านสมรภูมิงานมาไม่เหมือนกัน

ค้นฟ้าหาพิสูจน์อักษร

หลังจากกราฟฟิกได้ช่วยปั้นความคิดของฉันให้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว หน้าที่ต่อไปก็คือการตรวจหาคำถูกคำผิด และอื่นๆ อีกมากมายที่ปรากฏภายในเล่ม (หลายคนมักเข้าใจว่าพิสูจน์อักษรคือคนตรวจคำถูกคำผิดเท่านั้น ถ้าหากอยากพัฒนาเพียงเท่านั้น ก็ทำเท่าที่คิดเถิด แต่ถ้าอยากก้าวหน้า ก็กรุณากวาดสายตาดูเส้นสาย รูปแบบ รูปภาพ และการจัดวางองค์ประกอบอื่นๆ ของหนังสือช่วย บก.ด้วย)

กว่าหนังสือจะมาถึงมือพิสูจน์อักษร คนเป็น บก. จะต้องพิสูจน์มาแล้วนับจำนวนเที่ยวของการอ่านไม่ถ้วน ต้องการตรวจทานเนื้อหาและตัวถูกผิดมักมาพร้อมๆ กัน แต่ขณะที่อ่่านหลายๆ รอบ ก็ใช่ว่าจะไว้ใจได้ เพราะบางทีคนเราเหมือนถูกสะกดจิต อ่านมากๆ ก็มองข้ามในส่วนที่ผิดไป พลอยทำให้หลงหูหลงตาได้ ฉันมักจะบอกน้องๆ เสมอว่าให้คิดว่า ยังไงมันก็ยังมีที่ผิด และมันก็จริง เจอกันประจำเลยล่ะ เรื่องคำผิดนี่ ฉันยอมรับว่าหนังสือแต่ละเล่มจะให้ถูกเป๊ะ 100% เป็นไปไม่ได้ ค่าความผิดพลาดที่ฉันรับได้คือ ไม่เกิน 5 จุด ต่อหนังสือ 1 เล่ม ถ้ามากกว่านั้น ก็เตรียมเปลี่ยนตัวพิสูจน์อักษรได้เลย (แต่ไม่เปลี่ยน บก. นะจ๊ะ)

.........................เหลือบดูเวลานี่ก็ปาเข้า 5 ทุ่มแล้ว หนังตามันปรือๆ ยังไงพิกล อาการนี้ แถวบ้านเรียกว่า ง่วง

คืนนี้ขออัพเดทข้อมูลเท่านี้ก่อน คืนวันพรุ่งค่อยว่ากันต่ออีกทีนะคะ

ฝันดีค่ะ

editorpom

10.3.52

บรรณาธิการ vs บรรณารักษ์


ฉันเป็นบรรณาธิการ หรือเรียกสั้นๆ บก. ประจำอยู่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง

บ่อยครั้งที่ฉันบอกคนอื่นทั่วไป โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดแถวบ้านฉัน (ชัยภูมิ) มักไม่เข้าใจว่า บก. คืออะไร ต้องอธิบายซ้ำว่าคืออะไร และไม่น้อยเช่นกันที่เข้าใจกันผิด คิดว่า บรรณาธิการ กับ บรรณารักษ์ คืออาชีพเดียวกัน!!!!

ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกที่เข้าใจผิด เพื่อนวิศวะฯ ที่จบจุฬาฯ ด้วยกันนี่ล่ะ แรกที่ไม่ได้เจอกันนาน คำแรกที่เพื่อนเกลอทักทายมา...แม่บรรณารักษ์ ตอนนี้ทำงานที่ไหน? !#@##@##

วู้.....อยากจะจับพ่อเพื่อนตัวดีมาเปิดพจนานุกรมเพื่อดูความหมายของบรรณาธิการกับบรรณารักษ์เสียจริง แต่ก็ช่างเถอะ...ฉันขอมาแจ้งแถลงความที่นี่เลยแล้วกันว่าอะไรเป็นอะไร เผื่อจะทำให้ใครๆ เข้าใจหัวอก บก.กันมากขึ้น

บรรณาธิการ ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ว่า

บรรณาธิการ
[บันนาทิกาน] น. ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบ
เรื่องลงพิมพ์; (กฎ) บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทํา ตรวจแก้
คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์.

บรรณารักษ์
[บันนารัก] น. บุคคลที่รับผิดชอบในการบริหารและดำเนินงานใน
ห้องสมุด.

พอจะเห็นความแตกต่างกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าสองอาชีพนี้แตกต่างกันอย่างไร คนนึงทำหนังสือ อีกคนนึงดำเนินงานอยู่ในห้องสมุด

คนนึงปั้นหนังสือ อีกคนนึงดูแลหนังสือ

ความตั้งใจของฉันที่เปิดบล็อกนี้ขึ้นมา ก็เพื่อแบ่งปัน ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานทางด้านหนังสือของตัวเอง ที่เดินอยู่บนเส้นทางสายอักษรมานานกว่า 6 ปี ฉันว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ฉันถนัดและรักมากที่สุด

หากมีใครถามว่าอีก 5 ปี 10 ปี จะทำอะไร คำตอบที่คิดได้ตอนนี้ก็คือ เป็นคนทำหนังสือ...เป็นคำตอบที่ย้ำอยู่ในหัว ประหนึ่งว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อคู่กับหนังสือก็ไม่ปาน

เอาเป็นว่าต่อจากนี้ไป ฉันจะค่อยๆ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมา ให้คุณๆ ได้รู้ว่ากว่าจะเป็นหนังสือเล่มนึงนั้น ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง บก.มีบทบาทอย่างไร และมีแยกย่อยกันออกไปเป็นกี่ประเภทกันแน่

อดใจรอต่อไป หากมีข้อสงสัยประการใด ฝากคำถามไว้ จะรีบหาคำตอบมาบรรณาการค่ะ

editor pom...