22.5.52

ทำงานกับโรงพิมพ์อย่างไรให้ราบรื่น

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าหนังสือของเราที่อุตส่าห์ฟูมฟักกันมาเป็นเดือนๆ จะสวยสดสมใจหรือไม่...โรงพิมพ์คือปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้

ถ้าหากโรงพิมพ์มีความชำนาญและเอาใจใส่ในงานพิมพ์ของเราแล้ว งานที่ออกมาก็ได้ดั่งใจ ถ้าหากเมื่อไหร่ พิมพ์ให้แบบตามมีตามเกิด หนังสือที่เราเฝ้าถนอม ก็จะออกมาแบบขอไปที ความชีช้ำก็จะตกอยู่ที่ บก. ที่ทำงานแล้วไม่ได้ดั่งวาดไว้

ตัวอย่างปกที่คุมสีได้ดั่งใจ

แล้วเราจะเลือกโรงพิมพ์อย่างไรให้ตรงใจ และได้งานอย่างที่หวัง?

โดยปกติแล้ว ถ้าสำนักพิมพ์มีหนังสือวางตามแผงหนังสือ ก็เป็นหน้าที่ของเซลล์โรงพิมพ์จะเป็น "ผู้ตามล่า" เพื่อหาทางเข้าพบสำนักพิมพ์เอง

บ่อยครั้งมากๆ ที่จะมีโทรศัพท์แนะนำตัวจากเซลล์โรงพิมพ์และขอเข้ามาเสนองานพิมพ์...และก็มากครั้งที่ บก.จะรับนัดเพื่อดูแนวทางและหาพันธมิตรใหม่ที่จะร่วมงานพิมพ์

โดยสูตรสำเร็จ เซลล์จะนำเอาผลงานที่เคยตีพิมพ์มาเสนอให้กับสำนักพิมพ์ดู เพื่อให้เห็นผลงานการพิมพ์เป็นเบื้องต้น โดยมากงานพิมพ์ที่เขาเลือกมานำเสนอเราก็ต้องเป็นงานชิ้นโบว์แดงอยู่แล้ว เรามักจะไม่สงสัยในฝีมือการพิมพ์หรอก เพราะที่ไหนๆ ลองใส่ใจที่จะพิมพ์งานเราแล้ว ก็ต้องออกมาดี แต่สิ่งที่เราสนใจมากกว่าคุณภาพงานพิมพ์ก็คือ "การบริการ"

บางเจ้า พอส่งงานให้แล้วก็มักอืดอาดในการรับ-ส่งงาน โทรให้มารับงานตอนเช้า กว่าจะมาได้ก็ปาไปเกือบเลิกงาน ถ้าแบบนี้ ก็คงต้องสวมคอนเวิร์สแบบทางใครทางมัน เพราะการทำหนังสือ มีกำหนดระยะเวลาการออกที่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานสัปดาห์หนังสือและงานมหกรรมหนังสือด้วยแล้ว จะเรื่อยๆ มาเรียงๆ ไม่ได้หรอก เพราะประเดี๋ยวไม่มีหนังสือใหม่ไปโชว์ในงาน

หัวข้อที่มักจะพูดคุยกับโรงพิมพ์ โดยมากมักจะเป็นดังต่อไปนี้
*** เครดิต ที่จะจ่ายเงินให้กับโรงพิมพ์ บางที่เริ่มที่ 30 วัน บางที่ก็ 60 วัน แล้วแต่จะพูดคุยกัน บางแห่ง ถ้าเห็นว่าเราเพิ่งร่วมงานกันเป็นครั้งแรก ก็จะขอให้มีการวางมัดจำในวันที่ส่งไฟล์งาน 50% แต่สำหรับสำนักพิมพ์ที่มีโรงพิมพ์เจ้าประจำอยู่แล้ว ก็ต้องต่อรองกับโรงพิมพ์ใหม่ว่า ไม่ต้องวางมัดจำก่อนได้ไหม เพราะมันทำให้กระแสเงินสดต้องถูกแบ่งไปส่วนนี้ก่อน ทำให้ไม่สะดวกต่อการบริหารก็มี ถ้าหากเราไม่เลือกโรงพิมพ์นี้ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะโรงพิมพ์เก่าที่ทำงานด้วยกันประจำก็ยังพร้อมพิมพ์ให้ ดังนั้น หากโรงพิมพ์ต้องการงานใหม่ ก็ต้องตัดเงื่อนใขการวางมัดจำออกไป นอกเสียจากว่าจะทำงานกับเจ้าใหม่ๆ ที่ไม่อาจแน่ใจว่าจะว่าเบี้ยวจ่ายเงินหรือไม่

ปกติแล้ว เซลล์มักจะขอเข้ามาคุยที่สำนักพิมพ์ เพื่อที่จะให้เห็นหน้าตาของสำนักงาน ว่ามีความเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด สำนักงานมีจริงหรือไม่ เพราะป้องกันการสั่งพิมพ์แล้วไม่จ่ายเงินนั่นเอง

*** จำนวนแท่นพิมพ์ และขนาดแท่นพิมพ์ จำเป็นต้องทราบไว้ เพราะจำนวนแท่นพิมพ์จะมีผลต่อเรา ในเวลาที่ต้องการงานเร่ง งานด่วน เพราะนั่นหมายถึงขีดความสามารถในการพิมพ์งานในแต่ละล็อตของโรงพิมพ์ ถ้าแท่นพิมพ์มีมากกว่า 2 ก็นับว่าใช้ได้ ที่พอจะสับหลีกให้งานเราขึ้นแท่นพิมพ์ได้ ในกรณีที่ด่วนมาก ส่วนขนาดแท่นพิมพ์ ที่บอกว่า ขนาดตัดสอง หรือว่าตัดสี่นั้น ก็ถามไปให้รู้เป็นข้อมูล จะได้รู้ว่ากระดาษที่เขาจะนำขึ้นพิมพ์มีขนาดเท่าไหร่ มีผลต่อการกำหนดขนาดหนังสือของเราด้วย (ไว้จะเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของประเด็นนี้อีกที---อย่าลืมเตือนนะ) นอกจากนี้จำนวนสีที่โรงพิมพ์มีว่ามีความสามารถพิมพ์ได้กี่สี พื้นฐานแล้วมีสีเดียว สองสี สี่สี ห้าสี หกสี หรือว่าแปดสี ก็ว่ากันไป หากเป็นพวกงานโฆษณา ก็จำเป็นต้องพิมพ์สีเริ่ดๆ ก็อาจใช้แปดสีเต็มที่ แต่ว่างานพิมพ์หนังสือนั่นสีพิเศษสีที่ห้า ก็นับหรูแล้ว โดยมากจะใช้กันสี่สีนี่ล่ะค่ะ (แต่ก็ต้องถามไว้)


*** ระยะเวลาการพิมพ์ อันนี้ต้องถามกันล่วงหน้าเลยค่ะ ว่างานที่เราส่งไปนั้น จะใช้เวลาในการพิมพ์กี่วัน โดยปกติหลังจากที่สรุปเพลทกันเรียบร้อยแล้ว จะได้งานเป็นรูปเล่มหลังจากนั้น 4-7 วัน (กรณีนี้ไม่นับรวมจากวันที่เราส่งไฟล์เข้าร้านเพลทนะ เพราะบางทีก็มีการแก้งานดิจิตอลกันกระจาย แถมขั้นตอนงานปรูฟ ก็ใช่ว่าจะผ่านได้ ต้องดูสีกันวุ่นวาย อย่างน้อยๆ ก็ 3 -5 วันแล้วล่ะ)

*** ขั้นตอนการทำงาน บอกกันไปเลยว่าเราต้องการดูดิจิตอลปรู้ฟไหม ต้องการดูปรูฟกันกี่รอบ ต้องทำความเข้าใจกันให้เรียบร้อย เพราะบางครั้งโรงพิมพ์อาจบวกลบราคาจากการดูดิจิตอลปรู้ฟได้ บางสำนักพิมพ์มั่นใจในไฟล์ของตัวเองว่าไม่มีตกหล่นก็อาจให้ยิงปรูฟจริงออกมาเลย ก็จะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายในส่วนดิจิตอลออกไปได้ ควรตกลงกันก่อน

*** การขนส่ง ต้องแจ้งกันล่วงหน้าไปเลยว่าจะให้ขนส่งกี่ที่ บางที่จัดจำหน่ายเอง โรงพิมพ์อาจต้องขนส่งให้หลายที่และหลายเที่ยว อันนี้ก็ต้องตกลงกันไป

***มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเองหรือว่าเป็นโบรกเกอร์ อันนี้ต้องถามให้ชัวร์นะคะ เพราะมีหลายๆ บริษัทที่เป็นโบรกเกอร์หางานให้กับโรงพิมพ์ แน่นอนค่ะว่าราคาจะต้องถูกบวกเพิ่มมากกว่าการที่เราพิมพ์งานโดยตรงกับโรงพิมพ์แน่นอน นอกจากจะเสียเปรียบในส่วนนี้แล้ว การทำงานก็ต้องบวกเวลาเพิ่มอีกด้วย เพราะทำงานกันหลายทอด ต้องระวังดีๆ นะคะ ถามก่อนจะได้ไม่เสียรู้

การทำงานกับโรงพิมพ์เราก็ต้องแม่นในเรื่องสี และดัมมี่ของเราด้วย ตัว บก.เองจะต้องรู้ว่าโทนสีที่เราต้องการนั้นคือแบบไหน บางทีสีที่เราเลือกตอนงานปรูฟ เวลาพิมพ์ออกมาแล้วเป็นคนละเรื่องก็มี หลายครั้ง จะต้องไปดูงาน "ที่หน้าแท่น" หมายถึงการไปดูสีที่หน้าแท่นพิมพ์ ให้ช่างพิมพ์ ออกงานให้เราดูแล้วเลือกเลยว่าชอบสีนี้ไหม อยากให้ปรับสีไหนบ้าง จะได้ถูกใจคนทำมากที่สุดค่ะ

........................................

14.3.52

ได้ต้นฉบับมาแล้ว ต้องทำยังไง?

หากน้ำคู่ปลา ฟ้าคู่นก อย่างงั้น "ต้นฉบับ" ก็ต้องคู่กับบก. (พอได้น่ากับคำกล่าวอ้างนี้)
ทำไมฉันต้องกล่าวอ้างเฉกเช่นนี้...ก็เพราะหากไร้ซึ่งต้นฉบับ บก.ก็ไร้ซึ่งภาระหน้าที่ (ก็จะให้ทำอันใดเล่า ในเมื่อ บก.เกิดมาเพื่อจัดการต้นฉบับ)

อย่างที่ฉันเคยเล่าไปเมื่อตอนที่แล้ว ว่าต้นฉบับมาจาก 2 ทางด้วยกัน คือ หนึ่ง นักเขียนส่งแบบสำเร็จรูปเข้ามา สอง สำนักพิมพ์คิดโครงแล้วจ้างนักเขียน เขียนตามพล็อตที่วางไว้

ต้นฉบับทั้งสองแบบ มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ต้นฉบับสำเร็จรูป ได้เปรียบในเรื่องความสมบูรณ์ บางเล่มส่งมาก็พร้อมพิมพ์ได้เลย แต่มีข้อเสียที่ว่าบางส่วนบางตอน ไม่ตรงกับคอนเซ็ปต์สำนักพิมพ์ บางทีเราจะเข้าไปคอมเมนท์หรือแก้ไขอะไรก็ยาก เพราะ บก. ต้องให้เกียรตินักเขียน ไม่ใช่ว่าเราเป็น บก. แล้วจะแก้ไขงานใดๆ ได้เลย จะต้องพูดคุยกับนักเขียนก่อน ว่าแก้ได้หรือไม่ เพราะนักเขียนที่เขียนออกมา โดยมากมักเขียนตามพล็อตของตัวเองที่เขียนไว้ มันก็ไม่แน่เหมือนกันว่า ไอ้ส่วนที่เราของแก้ไขนั้น อาจเป็นไฮไลท์เด็ดของเขาก็ได้ ของอย่างนี้ต้องคุยกัน

หลายหนที่ฉันต้องขอปฏิเสธที่จะรับพิมพ์ต้นฉบับบางงานที่ส่งมา เพราะไม่ตรงกับแนวหนังสือที่สำนักพิมพ์วางไว้

เข้าใจนะคะว่าส่งงานมาแล้วก็ต้องการได้ฟีดแบ็กกลับไป บก.ก็พยายามทะยอยอ่านงานของแต่ละท่านให้ละเอียดที่สุดล่ะค่ะ หลายท่านทั้งโทรทั้งอีเมล์มาถามความคืบหน้า หารู้ไม่ว่าก้นบก.ร้อนเป็นไฟยิ่งกว่า เพราะต้องอ่านงานทุกชิ้่นที่ส่งมา (ตอนนี้ฉันเริ่มสบายขึ้นมานิด เพราะมีต้นฉบับจากนักเขียนส่งเข้ามาให้อ่านไม่ขาดสาย ขอบคุณทุกท่านที่ได้กรุณาส่งมาให้สำนักพิมพ์พิจารณา)

หากเป็นต้นฉบับที่ปั้นขึ้นเอง ในขั้นต้นนักเขียนจะต้องส่งบทแรกๆ มาให้ดู Mood & Tone ของงานเขียนก่อนว่าออกมาแบบไหน สไตล์ที่ฉันชอบมักจะเป็นการเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยความหนังสือของเราเป็นแนว business set-up: how-to ดังนั้นการจะมาเขียนเป็นหัวข้อ แล้วอัดเนื้อหาเข้าไปเป็นหน้าๆ คนอ่านมักจะเบือนหน้าหนีไปเสียก่อน

แนวที่สำนักพิมพ์วางไว้ก็คือ เรื่องต้องอ่านง่าย (ประหนึ่งกำลังจับเข่าคุยกันซึ่งหน้ากับผู้อ่าน) และเนื้อหาต้องครบครัน หรือไม่ก็ต้องชี้แหล่งที่ต่อยอดได้ให้คนอ่านได้ตามเรื่องต่อไป

โดยมากเรามักพิมพ์งานในโปรแกรม word มาในเอกสารขนาด A4 ฉันจะเริ่มอ่านต้นฉบับตามรูปแบบที่นักเขียนส่งมาให้ก่อน จากนั้นค่อยปรับเอกสารนั้นเป็นขนาด A5

ทำไมต้อง A5????

ก็เพราะรูปเล่มของหนังสือเล่มที่เราๆ เรียกกันว่า พ็อกเก็ตบุ๊กนั้น เป็นขนาด A5 หากฉันปรับเป็นขนาดเท่านี้ ภาพของหนังสือเล่มที่ฉันกำลังจะทำก็ชัดเจนขึ้น

เชื่อไหม ว่าการอ่านจากขนาด A4 แล้วปรับมาเป็น A5 จะให้อารมณ์การอ่านที่แตกต่างกัน เพราะหลังปรับขนาด ฉันจะวางจะเคาะตัวหนังสือให้พอดีหน้า หรือไม่ก็เริ่มวางรูปแบบหนังสือว่าหน้าตาเนื้อในจะออกมาในรูปแบบใด หน้าไหนจะวางรูปแบบเปิด 2 หน้า หรือว่าหน้าไหนจะเปิดเพียงหน้าเดียว

ขั้นตอนการเกลี่ยหน้า A5 นี้ ตอบคำถามฉันได้หมด ว่าสรุปแล้วหนังสือเล่มนี้จะมีกี่หน้า ครบยกหรือไม่ (จะเล่าให้ฟังอีกทีว่า "ยก" หรือ "หน้ายก" คืออะไร) ถ้าไม่ครบ ฉันจะต้องเพิ่มอะไรเข้าไปอีก หรือว่าถ้าต้องการแทรกหน้าสีเข้าไป ควรจะแทรกหน้าไหน ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญของฉันเลยล่ะ เพราะฉันสามารถวางแผนเรื่องจำนวนหน้าหนังสือได้ หากหน้าเยอะไป ก็จะขอให้นักเขียนช่วยตัดให้ และถ้าพบว่าหน้าน้อยเกินไป ก็จะดูก่อนว่าเพิ่มอะไรเข้าไปได้บ้าง ทั้งภาพประกอบ ทั้งคำโปรย หรือว่าจะให้นักเขียนช่วยเขียนเพิ่ม

การเกลี่ยหน้านี้นับเป็นคัมภีร์ "ดัมมี่" ของฉันเลย (ดัมมี่ คำๆ นี้ในวงการหนังสือหมายถึงเอกสารที่แจ้งให้ทราบว่าในหนังสือที่กำลังจะทำมีกี่หน้า และแต่ละหน้ามีอะไรบ้าง มีสีหน้าไหน มีภาพหน้าไหน เพื่อช่วยให้ทางร้านเพลทและโรงพิมพ์รู้ได้โดยไม่ต้องไปนั่งเปิดงานดู)

การเกลี่ยหน้าไว้เบื้องต้นนี้ จะช่วยให้กราฟฟิกทำงานได้ง่ายด้วย เพราะไม่ต้องไปนั่งเดาว่าจะตัดเนื้อหาแต่ละหน้าอย่างไร เพราะฉันจัดการเฉลี่ยให้เห็นเบื้องต้นแล้ว กราฟฟิกก็ยึดใบปริ้นท์งานที่ฉันแนบส่งไปพร้อมไฟล์งาน แล้ววางเนื้อตามที่ฉันไกด์ไว้ก่อน ทั้งนี้หากไปปรับในหน้างาน pagemaker หรือว่า indesign แล้ว ยังมีพื้นที่เหลือ ก็ให้ยืดหยุ่นได้ ตามความเหมาะสม ฉันว่าวิธีนี้ จะช่วยกราฟฟิกให้ทำงานง่ายขึ้น

หรือว่าอย่างไรพี่เก่งและน้องตั้ม?

ถามว่าบก.ต้องอ่านต้นฉบับกี่เที่ยว เอาแบบคร่าวๆ นะคะ

ครั้งแรกก็อ่านตอนพิจารณาต้นฉบับ ซึ่งบางครั้งอ่านแบบเอาความให้ได้กลิ่นว่าต้นฉบับนี้เกี่ยวกับอะไร น่าอ่านน่าติดตามหรือไม่

ครั้งที่สองก็อ่านหลังจากมีการปรับแก้ตามที่ไกด์กลับไปให้นักเขียน

ครั้งที่สามอ่านตอนที่ปรับเป็นหน้า A5

ครั้งที่สี่ อ่านหลังปริ้นท์ออกมาในกระดาษ (เพราะอ่านได้คนละอารมณ์กับไฟล์ ทำให้รู้ผิดรู้ถูกมากกว่าอ่านจากหน้าจอ)

ครั้งที่ห้า อ่านหลังจากที่กราฟฟิกส่ง Lay out ดราฟท์แรก

ครั้งที่หก อ่านละเอียดในรอบที่กราฟฟิกส่ง Art work (เป็นการอ่านก่อนส่งโรงพิมพ์ หากมีที่ผิดก็ต้องแก้ก่อนส่ง ไม่งั้นโดนร้านเพลทและโรงพิมพ์บ่นแน่ ที่สำคัญเขาจะมองว่าเราไม่มืออาชีพเอาเสียเลย)

ครั้งที่เจ็ด อ่านในรอบที่ร้านเพลทส่งงานปริ้นท์ดิจิตอล (ดูว่ามีที่ผิดหลงหูหลงตาไหม)

ครั้งที่แปด อ่านรอบที่ส่งงานปรู้ฟจริง (ดูว่าร้านเพลทแก้มาถูกต้องหรือไม่ กรณีมีแก้งานดิจิตอล บางครั้งการวางงานในรอบนี้ก็มีผิดพลาด อย่างผิดฟ้อนท์ หรือว่าวางรูปผิด อะไรก็เกิดขึ้นได้ อ่านรอบนี้อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่ลงชื่อให้ผ่าน หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ผู้ลงชื่อต้องรับผิดชอบ ซึ่งก็คือตัว บก.เอง)

ครั้งที่เก้า หลังโรงพิมพ์ส่งเป็นเล่ม เราก็ต้องมาอ่านอีก เพราะมันได้อีก feel นึง ฉันจะทนุถนอมหนังสือที่ออกมาราวกับลูกน้อยก็ไม่ปาน เปิดอ่านแล้วอ่านอีก เปิดหน้านั้นหน้านี้ ลูบๆ คลำ ใครจะหาว่าเห่อก็ยอมล่ะ เพราะกว่าฉันจะคลอดหนังสือเล่มนึงออกมาได้ ใช้เวลาหลายเดือน และใช้ความทุ่มเทเกินร้อย เห็นเป็นเล่มออกมา แล้วมันชื่นใจ...

อยากให้คุณๆ ได้มารู้สึกด้วยกัน ว่าเวลาเห็นหนังสือที่ตัวเองทำออกไปวางขาย โชว์ตามหน้าร้านหนังสือ มันปลื้มมากมายแค่ไหน

คนที่รู้สึกได้มากๆ ก็อย่างเช่น นักเขียน และทีมงานกองบรรณาธิการ ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

ฉันจะส่งหนังสือให้กับทุกคนในทีม เพราะเก็บไว้เป็นความทรงจำดีๆ ร่วมกัน...