12.3.52

หน้าที่ของบรรณาธิการ ภาค 2






มาต่อกันกับหน้าที่ของบรรณาธิการนะคะ...คราวที่แล้วเราพูดกันถึงพิสูจน์อักษร ครานี้มาดูกันต่อค่ะว่าหน้าที่ต่อไปของ บก. คืออะไร

หาโรงพิมพ์และเจรจาต่อรองราคา
ใช่แล้วค่ะ หน้าที่ในการหาโรงพิมพ์และเจรจาต่อรองราคา เป็นหน้าที่ของ บก.ค่ะ บางที่อาจเป็นหน้าที่ของเจ้าของสำนักพิมพ์ แต่ที่นี่ บก.ต้องหาโรงพิมพ์และจัดการเจรจาต่อรองราคาให้ได้ตามราคามาตรฐานที่สำนักพิมพ์เคยจ้างพิมพ์

การหาโรงพิมพ์ไม่ยากหรอกค่ะ โดยมากโรงพิมพ์มักเป็นผู้ติดต่อเข้ามา ส่วนมากฉันมักจะเชิญเข้ามาพูดคุยพบหน้าค่าตากันก่อน ตัวแทนจากโรงพิมพ์มีหลากหลายไล่เรื่อยมาตั้งแต่ เจ้าของโรงพิมพ์ ผู้จัดการ ไปจนถึงเซลล์ที่เป็นตัวแทนขายงานพิมพ์

เนื้อความในการพูดคุยก็มีตั้งแต่ขนาดโรงพิมพ์ ขนาดแท่นพิมพ์ จำนวนสีที่โรงพิมพ์สามารถพิมพ์ได้ (สีเดียว สองสี สี่สี ห้าสี หกสี แปดสี แล้วแต่ความทันสมัยของแต่ละที่) การบริการ การขนส่ง เครดิตการชำระเงิน เป็นต้น เหล่านี้เราต้องทำความเข้าใจกันเบื้องต้น เพราะข้อเจรจาในวันนี้ จะเป็นข้อตกลงเบื้องต้น ที่ผูกมัดกันทั้งสองฝ่าย ฉันมักปิดท้ายด้วยการแจ้งให้แต่ละโรงพิมพ์ทราบว่า จะต้องส่งตัวอย่างหนังสือ 20 เล่ม เป็นของแถมให้กับสำนักพิมพ์ เพื่อจะได้นำไปแจกจ่ายเป็นผลงานให้กับทีมงาน จะได้ไม่ต้องไปเบียดบังกับยอดพิมพ์ที่พิมพ์มาพอดีกับจำนวนที่ร้านค้าสั่ง

ดูคุณภาพสีและตรวจความเรียบร้อยของงานก่อนพิมพ์
หลังเลือกโรงพิมพ์แล้ว ราคาตกลงกันได้เรียบร้อย ก็เป็นขั้นตอนการส่งงานโรงพิมพ์ (ฉันจ้างเหมาทั้งค่าพิมพ์และค่าเพลท ดังนั้นโรงพิมพ์จะเป็นผู้ส่งงานให้ร้านเพลทจัดการออกงานดิจิตอลและงานปรู๊ฟ) งานแรกที่ร้านเพลทจะส่งมาให้คืองานปริ๊นท์ดิจิตอล เขาจะส่งมาให้ดูว่าตัวอักษรกระโดดไหม ภาพเคลื่อนผิดที่ผิดทางหรือไม่ ฟ้อนท์ที่ปริ๊นท์ออกมาใช่ฟ้อนท์เดียวกันกับที่เราส่งไปไหม เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องตรวจดูว่ามีข้อความผิดหลงหูหลงตาหรือไม่ รอบนี้ต้องให้ความสำคัญ ช่วยกันตรวจดีๆ นะคะ หากพบข้อผิดพลาดยังพอแก้ได้ทัน แต่ถ้าหากพ้นขั้นตอนนี้ไปแล้ว ก็ต้องเสียเงินล่ะค่ะ

ขั้นตอนที่ว่านั้นคือการออกปรู๊ฟ ซึ่งนำไปลงเพลทแล้วทำปรู๊ฟออกมา หากมีข้อผิดพลาด มันหมายถึงการแก้เพลท หากเป็นเพลทขาวดำราคาก็ไม่ถึงหนึ่งพันบาท แต่ถ้าหากเป็นเพลทสี ก็จงเตรียมเงินหลายๆ พันไว้จ่ายค่าเสียหายเถิด รับรองงานเข้าแน่ๆ

หากงานใดเป็นสี จะต้องดูว่าสีที่ทางร้านเพลทออกมาให้นั้น เป็นสีเฉดเดียวกับที่เราต้องการหรือไม่ บางครั้งเราก็นำมาเทียบกับชาร์ตสี แต่ก็ไม่สามารถเชื่อได้ 100% เพราะกระดาษและคุณภาพงานพิมพ์กระดาษชาร์ตสีนั้นต่างกัน ทางที่ดี ให้แนบงานสีที่เราชอบใจไปเป็นตัวอย่าง แล้วให้ช่างเพลทเทียบสีตามนั้นเลยดีกว่า เราสามารถสั่งปรับลดสีได้ โดยอาศัยแม่สี 4 ตัวคือ CMYK อันได้แก่ ฟ้า แดง เหลือง ดำ เป็นมาตรฐาน จะลดดำ ลดแดง หรือว่าเพิ่มฟ้า ก็เลือกได้ตามใจ (ต้องเก๋าในการดูสีพอสมควรถึงจะสั่งให้เพิ่มลดสีนั้นสีนี้ได้ เพราะการจะรู้ว่าสีไหนขาด เติมสีไหนจะได้สีอ่อนเข้มขึ้น ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพอสมควร) ทางที่ดี ฉันว่าเลือกเอาตัวอย่างสีที่เราชอบแล้วส่งไปเทียบจะชัวร์มากที่สุด

หลังงานเพลท เรามีสิทธิ์ที่จะเพิ่มลดสีให้สดมากขึ้น ด้วยการไปคุมสีที่หน้าแท่นพิมพ์ได้ หากโรงพิมพ์ไหนไฮเทคก็จะมีแท่นพิมพ์แบบควบคุมด้วยคอมพิมพ์เตอร์ จะเพิ่มลดสีตรงไหนก็ได้อย่างใจสั่ง ฉันเลือกที่จะไปดูสีที่โรงพิมพ์เป็นบางปก ถ้าไปดูทุกปกก็ไม่เป็นอันทำการทำงานอื่นๆ กันล่ะ เพราะโรงพิมพ์ไม่ใช่อยู่ใกล้ๆ ส่วนใหญ่ก็กระจุกตัวอันอยู่แถวฝั่งธนบุรีโน่น

พองานพิมพ์เสร็จก็มานั่งรอลุ้นกันล่ะค่ะ ว่าหนังสือจะออกมาเรียบร้อยไหม หลายทีหลายหนสีที่พิมพ์ออกมา หลังจากที่นำไปเคลือบพีวีซีด้าน หรือว่าสปอตยูวี ก็จะทำให้สีเพี้ยนได้ ดังนั้นคนเป็นบก. จะต้องให้ความสำคัญทุกขั้นตอนของการผลิตกันเลยทีเดียว

จัดประชาสัมพันธ์ หารือการวางหนังสือ และจัดงานเปิดตัวหนังสือ
หากสำนักพิมพ์ไม่มีแผนกพีอาร์คอยดูแล บก.ก็ต้องจัดแจงส่งหนังสือไปให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือให้ผ่านหูผ่านตาคนอ่าน โดยมากที่ได้ผลก็ตามคอลัมน์หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ส่วนรายการทีวี นานๆ จะเวียนมาถึงทีของเรา สำหรับสำนักพิมพ์ที่นี่ดีหน่อยที่จ้างพีอาร์เอเจนซี่คอยดูแล เมื่อหนังสือออกมา ก็ต้องกันหนังสือจำนวนนึงให้พีอาร์นำไปแจกให้กับสื่อมวลชน

หากเล่มไหนเป็นไฮไลท์ที่คิดว่าจะน่าจะขายได้ในวงกว้าง ก็จะปรึกษาหารือกับพีอาร์และการตลาด เพื่อจัดงานเปิดตัวหนังสือ ซึ่งรูปแบบและสถานที่ก็ขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ของเล่มนั้นๆ บางงานบก.เป็นแม่งาน ที่คอยประสานงาน และจัดเตรียมงาน บางงานก็ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาดเป็นคนดูแล

นอกจากนี้ก็ร่วมวางแผนการขายหรือว่าติดตามช่องทางการขายว่าเวิร์กสำหรับหนังสือเล่มนั้นหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการมองลู่ทางการผลิตหนังสือเล่มต่อไป

นี่คือภาระหน้าที่คร่าวๆ ของคนเป็นบรรณาธิการ ซึ่งได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าแต่ละที่ก็ทำงานแตกต่างกันไป อย่างที่นี่ บก.มีหน้าที่ในการควบคุมงบประมาณในการผลิตหนังสืออีกด้วย

อย่าเพิ่งเหนื่อยกันนะคะ ดูเหมือนมีหน้าที่เยอะ แต่ความจริงแล้ว มันคือระบบที่หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ พยายามจัดคิวงานอย่าให้ชนกันมากก็ถือว่าใช้ได้แล้วล่ะค่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การจัดการของเราเอง

บ่อยครั้งที่เพื่อนๆ มาถามว่างานยุ่งไหม ฉันมักจะตอบไม่ยุ่ง เพราะการตอบว่ายุ่ง เป็นเหมือนการแช่งตัวเอง คนเราพูดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ต่อให้ยุ่งแค่ไหน ถ้าเรามองว่าไม่ยุ่ง มันก็คือไม่ยุ่งล่ะค่ะ มองโลกในแง่ดีเข้าไว้ แล้วอะไรๆ จะดีขึ้นเอง

คราวหน้ามาว่ากันต่อ อยากรู้เรื่องอะไรอย่าลืมทิ้งคำถามไว้นะคะ
ฝันดีค่ะ
Editor Pom

1 ความคิดเห็น:

Pam กล่าวว่า...

อยากทราบความแตกต่างของงานบรรณาธิการหนังสือเล่มกับบรรณาธิการนิตยสารอ่ะคะ มีความแตกต่างกันใช่ไหมคะ??