11.3.52

หน้าที่ของบรรณาธิการ



ทราบกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าบรรณาธิการ (บก.)คือใคร...


วันนี้เรามารู้จักหน้าที่ของบก.กันค่ะ ว่าทำอะไรบ้าง (กรณีศึกษาจากตัวของ editorpom)


บางคนอาจจะบอกว่า วันๆ เห็นแต่รับโทรศัพท์ เดินไปเดินมา แถมด่ากราดอีกต่างหาก...(อันนี้ก็มีกันบ้างในกรณีที่มันมาคุ)


ฉันจะค่อยๆ เล่าในแต่ละหน้าที่ พร้อมกับสอดแทรกเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คุณๆ ได้เห็นภาพไปพร้อมๆ กันนะคะ


หน้าที่หลักๆ ที่ทำกันในทุกเมื่อเชื่อวันของฉันก็คือ
เสาะแสวงหาต้นฉบับมาตีพิมพ์

อันนี้เป็น priority อันดับ 1 เลยละค่ะ ถ้าไม่มีต้นฉบับ ก็นับว่าสิ้นทางทำมาหากินกันเลยทีเดียว ฉันยังจำได้ ในห้วงเวลาที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหมาดๆ ที่สำนักพิมพ์แห่งนี้ ว่าการได้มาซึ่งต้นฉบับนั้นลำบากยากเย็นแสนเข็ญสักเพียงใด ด้วยความที่กระโดดข้ามจากวงการอาหารและการท่องเที่ยว ปีนป่ายเข้าสู่วงการบันเทิงเกาหลี แล้วค่อยเร็วรี่เข้ามาที่แวดวงหนังสือ How-To ทางด้านธุรกิจและการใช้ชีวิต ไม่อยากจะเอ่ยว่าเลือดตาแทบกระเด็น เพราะต้องมานับหนึ่งใหม่ ใช้ทุกเครือข่ายเท่าที่พอจะหาได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน กราฟฟิก พิสูจน์อักษร หรือว่าแหล่งข้อมูลต่างๆ (ซึ้งมากกับคำว่า connection)

ในช่วงต้นที่ทำงาน ฉันต้องปั้นหนังสือตั้งแต่ตัวอักษรตัวแรกกันเลยทีเดียว เพราะเข้ามาแบบเริ่มต้นจาก 0 จริงๆ ต้องคิดประเด็น ว่าธุรกิจไหนฮอต อันไหนอยู่ในความสนใจ หรือว่ามีแนวโน้มจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในอนาคต...คุณคะ จากที่วิ่งตามนักร้องเกาหลี ต้องมาตาเหลือกกับแวดวงธุรกิจ คิดว่าความคิดจะหมุนติ้วได้สักกี่องศาละคะ

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ใครเขาจะรู้จักสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ชื่อ busy-day ละคะ ที่พอจะมีพื้นที่ยืนบนชั้นหนังสือได้ก็มีหนังสือทำอพาร์ตเมนท์ให้รวย และผมคือนักบิน ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก ไม่มีนักเขียนคนไหนหาญกล้ามาส่งต้นฉบับให้พิจารณา เวรกรรมก็ตกอยู่ที่ บก. นะสิ ที่ต้องปัน content เอง

การได้มาซึ่งต้นฉบับสำหรับตีพิมพ์นั้น ฉันพอจะแบ่งแยกย่อยออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง นักเขียนส่งต้นฉบับแบบสำเร็จรูปมาให้พิจารณา (แบบนี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ฉันใฝ่ถวิลหามากกกกกกกกกกกกกกก)

สอง สำนักพิมพ์คิดพล็อตเรื่องแล้วหานักเขียน เขียนตามโครงที่วางไว้

แบบที่หนึ่ง แน่นอน...อย่างที่ฉันแอบกระซิบไว้ในเบื้องต้น ว่าเป็นแบบที่ฉันปรารถนามากที่สุด ก็อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นอีกละค่ะว่า สำนักพิมพ์เล็กๆ นักเขียนหน้าไหนจะกล้านำต้นฉบับมาเสนอ จะอยู่จะไปวันนี้วันพรุ่งก็ไม่มีใครรู้ ฉันจึงได้แต่ภาวนา เฝ้าคอย และแอบเหงาหงอยเล็กน้อย ว่าวันนึงจะเป็นวันของฉัน วันที่มีต้นฉบับไหลมาเทมา (มีอยู่ครั้งนึง ฉันได้เปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ที่เป็นนวนิยายสำหรับวัยรุ่น ภายในเว็บมีหัวข้อ "ต้นฉบับ" ไว้ด้วย พร้อมกับมีตัวเลขกำกับว่า ต้นฉบับพร้อมรอพิจารณา 369 เรื่อง....โอ้ววววววววว อกอีป้อมจะแตก เมื่อไหร่จะมีแบบนี้กับเขาบ้าง ขอเพียงเลขท้ายตัวเดียวฉันก็พอใจแล้ว)

แบบที่สอง นับว่าโหดหินมากกกกก ก็อย่างที่พูดไปแล้วล่ะค่ะ ว่าต้องคิดเอง (เออเอง) ว่าอันไหนจะเด่น จะดัง อันไหนน่าจะทำได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความน่าจะเป็นในช่วงปี 2550 โจทย์ของฉันก็คือธุรกิจที่ขนาดไม่ใหญ่นัก เข้าข่าย SMEs แบบที่คนทั่วไปในสังคม มีกำลังทรัพย์พอที่จะลงทุนตามได้ และที่สำคัญ จะต้องไม่เป็นธุรกิจที่เกร่อกันมาก ตอนนั้นแต่ละวันของฉันหมดไปกับการท่องเน็ต และเดินทางไปตามถนนสายต่างๆ สายตาก็จะเหลือบมองไปตามริมทางที่เป็นอาคารพาณิชย์ต่างๆ ว่าเขามีธุรกิจอะไรกันบ้าง ฉันก็เก็บรายชื่อไว้ เพื่อเป็น database ของตัวเอง

เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ ฉันได้รายชื่อของธุรกิจประเภทต่างๆ กว่า 50 รายการ ค่อยๆ มาคัดออกเพื่อนำส่งนายทุนที่เป็นผู้ออกสตางค์พิมพ์ ให้เขาได้เลือกว่าชอบใจในธุรกิจตัวใด ในระหว่างที่เสาะแสวงหาธุรกิจที่จะนำมาทำเป็น business set up:How-To แล้ว ฉันยังต้องหาอาชีพในฝันของหนุ่มสาวในสมัยนี้ ว่ามีอาชีพใดอยู่ในความน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจซื้อหาไปอ่าน

แน่นอนล่ะค่ะ การทำงานต้องทำแบบคู่ขนาน สมองซีกหนึ่งคิดเรื่องธุรกิจ อีกฟากหนึ่งก็ตามหาอาชีพในฝัน (ตอนนั้นมีระยะเวลาทดลองงานเป็นตัวบีบอีกต่างหาก เพราะเวลาเรื่อยมาถึง 2 สัปดาห์แล้ว) และได้โปรดอย่าถามว่า ฉันไม่มีกองบรรณาธิการคอยช่วยหาข้อมูลบ้างเหรอ

ที่นี่เป็นระบบ outsource หมดค่ะ ด้วยเหตุที่ว่ายังเป็นสำนักพิมพ์เพิ่งแตกเปลือกไข่ ก็เลยต้องจำกัดเรื่องคน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ฉันจึงมาในตำแหน่ง บก. ที่ทำหน้าที่แบบบ้านๆ ว่า multipurpose หรือที่เรียกยากๆ ตามภาษาไฮโซว่า เบ๊

จากรายชื่อ 30-50 ประเภทธุรกิจแลอาชีพในฝัน ถูกคัดเหลือเพียง 2-3 รายชื่อเท่านั้น เข่าอ่อนทรุดฮวบเลยล่ะค่ะตอนนั้น แม่ม...ทำมาตั้งเยอะแยะแต่ได้เท่านี้ แต่ก็ยังดีที่มีพอเข้ารอบ

เขียนพล็อตหรือโครงเรื่อง

หลังจากได้ชื่อธุรกิจ ฉันก็ต้องมานั่งเขียนพล็อตเรื่องว่าหนังสือที่เล่าเรื่องการจัดตั้งธุรกิจเล่มนี้ เนื้อหาจะประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง ฉันเริ่มที่ธุรกิจแรก "โรงเรียนกวดวิชา" แล้วก็แอบเติมสร้อยคำเพื่อเป็นจุดขายหนังสือตามเข้าไปอีกว่า "พารวย"

ไอ้เราก็มาจากสายบันเทิงเริงใจ ลัลล้ากับดาราเกาหลีมาพักใหญ่ๆ จู่ๆ มากระโดดใส่โลกธุรกิจ ก็ต้องดิ้นสูบความรู้เข้าหัวให้มากที่สุด (อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นเลยว่า คิดจะเป็น บก. ต้องสูบข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด อะไรที่ไม่รู้ให้รีบขวนขวาย ไม่งั้นจอด)

ฉันเสนอพล็อตเรื่องไปเสร็จสรรพเรียบร้อย พร้อมกับรับคอมเมนท์จากนักธุรกิจตัวจริงว่าข้างในต้องเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง ก็นับว่าสร้างความเชื่อมั่นได้พอสมควร ขั้นต่อไปที่ต้องทำคือ

ค้นหาตัวนักเขียน

งานนี้ก็หินไม่เบา เพราะนักเขียนที่เรารู้จักส่วนใหญ่ก็เป็นพวกที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน จะให้ไปติดต่อกับนักเขียนใหญ่ๆ ดูราคาค่าจ้างแล้ว คงไม่สมศักดิ์ศรี ว่าแล้วก็กวาดสายตาจากลิสต์รายชื่อต่างๆ ใน MSN เจอกับชื่อเพื่อนที่เป็นนักคอลัมนิสต์ เป็นมือสัมภาษณ์ ใช่เลย คนนี้ล่ะที่จะช่วยฉันให้รอดในงานนี้

วิธีการหาตัวนักเขียนตามสไตล์ฉันมีหลายแบบด้วยกัน

ประการแรกก็หาจาก connection ใกล้ตัวก่อน ว่าในรัศมีที่มีรายชื่อทั้งในโทรศัพท์ อีเมล์ หรือว่า MSN มีใครบ้างที่อยู่ในแวดวงนี้

ประการที่สอง ตรงดิ่งไปที่ร้านหนังสือ แล้วเปิดหารายชื่อนักเขียนที่เขียนแต่ละเล่มเลยค่ะ สนใจคนไหน ก็ติดต่อไปที่สำนักพิมพ์นั้นๆ เลย หลายๆ ต่อหลายท่านเป็นนักเขียนอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อสำนักพิมพ์ โอกาสที่เราจะได้คนที่มีฝีมือมาช่วยเขียนก็มีมากขึ้น

แน่นอนค่ะวิธีที่หนึ่งย่อมเหมาะกับห้วงเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ฉันจัดการโทรหาเพื่อนสาวที่เป็นคอลัมนิสต์ให้ช่วยรับงานนี้ไปจัดการที ด้วยคอนเซ็ปต์ที่วางไว้คือเป็นผู้สัมภาษณ์แหล่งข่าว แล้วนำมาเรียบเรียง คนนี้ล่ะเหมาะสมที่สุด (ใช่ไหมหน่อง)

ติดต่อแหล่งข้อมูล

และแล้วเพื่อนรักก็ตอบตกลงที่จะรับงานนี้ งานต่อไปของ บก. (ที่ไม่มีกองบรรณาธิการช่วยเหลือ) ก็คือ การคัดเลือกและติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล

ขั้นตอนนี้อย่าคิดว่าจะได้มาง่ายๆ นะคะ เพราะในหนังสือ 1 เล่มของฉัน จะต้องมีแหล่งข้อมูลไม่ต่ำกว่า 3 ที่ ซึ่งก่อนจะได้รับการยินยอม 3 ที่นี้ ฉันมีลิสต์รายชื่อของผู้ที่เข้าข่ายเป็นแหล่งข้อมูลกว่า 10 ที่

ฉันต้องติดต่อไปทั้ง 10 ที่เพื่อที่จะขอเข้าพบ พูดคุย เสนอโปรเจ็กต์ หว่านล้อม ชักแม่น้ำทั่วโลกมาโชว์ เพื่อให้เขาเห็นคล้อยที่จะยอมคายข้อมูลอันมีค่ามหาศาลออกมาตีแผ่ให้คนอื่นๆ ได้ทราบเคล็ดลับความสำเร็จในธุรกิจนั้นๆ คุณคิดว่าง่ายไหมล่ะ ที่จะหาใครสักคนมาเล่าเรื่องราวความสำเร็จของตัวเองแบบหมดพุง เหมือนการแบไต๋ถอดเสื้อผ้าให้คนอื่นเห็นเครื่องในยังไงยังงั้น

แต่สุดท้ายก็มีนักธุรกิจวิสัยทัศน์กว้าง ที่มองเห็นว่า ธุรกิจเป็นศาสตร์ ที่ใครๆ ก็มีสิทธิ์เรียนรู้ หากแต่การบริหารให้รอดต่างหากคือศิลปะ ที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ หลังจากที่ตระเวนออกไปพบผู้คนอีกกว่า 2 สัปดาห์ ฉันก็ได้มาซึ่งแหล่งข่าว

ในวันแรกที่นัดนักเขียนไปพบแหล่งข่าว ฉันผู้ซึ่งเป็น บก. จะต้องไปกับนักเขียนด้วย เพราะเป็นแม่งานที่เชื่อมระหว่างคนทั้งคู่เข้าด้วยกัน (โอวววว...ออกข้างนอกบ่อยๆ แบบนี้ งานในออฟฟิศส่วนอื่นไม่บานเหรอเพ่...)

และแล้วคู่ตุนาหงันทั้งสองฝ่ายก็ได้เจอกัน จากนี้ไปฉันก็รอวันที่จะรับต้นฉบับจากนักเขียน ที่นำบทสัมภาษณ์และข้อมูลต่างๆ มาร้อยเรียงกัน

ในเบื้องต้น ฉันต้องขอดูก่อนบทแรก เพื่อดูแนวทางการเขียนของนักเขียน ว่าเป็นไปตามแนวทางที่เราวางไว้หรือไม่ หากไม่ใช่ก็ต้องปรับ เพราะบทแรกนี้จะเป็นแม่แบบของการเขียนไปตลอดทั้งเล่ม จะยากหน่อยก็การสื่อสารให้นักเขียนรู้ว่าเราต้องการแบบไหน บก. เองก็ต้องแม่นข้อมูลและเข้าถึงอารมณ์ของงานเขียนนั้นๆ เพื่อที่จะคอมเมนท์นักเขียนได้ถูกจุด

ระยะเวลาในการเขียนงาน ส่วนมากฉันจะมีเวลาให้อ้อยอิ่งได้ราว 2 เดือน (นี่มันจะสิ้นเดือนแล้ว ฉันยังไม่มีต้นฉบับเลย ฮือๆๆ) หากนักเขียนมีประสบการณ์ในการเขียน ก็ถือว่าเป็นบุญของ บก. แต่หากเขียนยังไม่เข้าเค้า ก็ต้องเหนื่อยกันหน่อย (เดี๋ยวจะมีบทความที่เกี่ยวข้องกับนักเขียนโดยตรง ให้เห็นกันไปเลยว่านักเขียนมีกี่แบบ เล่ห์เหลี่ยม และความเจ็บปวดที่ บก. ได้รับบทเรียนจากนักเขียนประเภทต่างๆ มีอะไรบ้าง)

ควานหากราฟฟิกช่วยจัดหน้า

กราฟฟิกหรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิก คือคนที่จะมาเนรมิตตัวหนังสือในขนาด A4 ให้เปลี่ยนไปอยู่ในกระดาษตามขนาดที่ บก. ต้องการ (เดี๋ยวคุยกันอีกทีเรื่องขนาดหนังสือ) เขาหรือเธอที่ฉันนึกถึงในขณะนั้น ก็คือบรรดากราฟฟิกที่เคยทำงานกับฉันมาแล้วทั้งนั้น ฉันไม่กล้าเรียกใช้คนใหม่ๆ เพราะเวลาทำงานค่อนข้างสั้น ต้องร่วมงานกับคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น ไม่แปลกเลยที่ช่วงแรก กราฟฟิกรอบๆ ตัวฉัน จะได้รับการทาบทามให้มาช่วยกันจัดหน้ากันอย่างทั่วถึง

วิธีการหากราฟฟิกฟรีแลนซ์ ก็มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบค่ะ คือแบบควานหาคนใกล้ตัว กับประกาศหาในอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องใช้เวลาในการสัมภาษณ์ทำความรู้จัก และออกแบบมาให้ดูกันประมาณหนึ่ง เพราะแต่ละคนเคยผ่านสมรภูมิงานมาไม่เหมือนกัน

ค้นฟ้าหาพิสูจน์อักษร

หลังจากกราฟฟิกได้ช่วยปั้นความคิดของฉันให้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว หน้าที่ต่อไปก็คือการตรวจหาคำถูกคำผิด และอื่นๆ อีกมากมายที่ปรากฏภายในเล่ม (หลายคนมักเข้าใจว่าพิสูจน์อักษรคือคนตรวจคำถูกคำผิดเท่านั้น ถ้าหากอยากพัฒนาเพียงเท่านั้น ก็ทำเท่าที่คิดเถิด แต่ถ้าอยากก้าวหน้า ก็กรุณากวาดสายตาดูเส้นสาย รูปแบบ รูปภาพ และการจัดวางองค์ประกอบอื่นๆ ของหนังสือช่วย บก.ด้วย)

กว่าหนังสือจะมาถึงมือพิสูจน์อักษร คนเป็น บก. จะต้องพิสูจน์มาแล้วนับจำนวนเที่ยวของการอ่านไม่ถ้วน ต้องการตรวจทานเนื้อหาและตัวถูกผิดมักมาพร้อมๆ กัน แต่ขณะที่อ่่านหลายๆ รอบ ก็ใช่ว่าจะไว้ใจได้ เพราะบางทีคนเราเหมือนถูกสะกดจิต อ่านมากๆ ก็มองข้ามในส่วนที่ผิดไป พลอยทำให้หลงหูหลงตาได้ ฉันมักจะบอกน้องๆ เสมอว่าให้คิดว่า ยังไงมันก็ยังมีที่ผิด และมันก็จริง เจอกันประจำเลยล่ะ เรื่องคำผิดนี่ ฉันยอมรับว่าหนังสือแต่ละเล่มจะให้ถูกเป๊ะ 100% เป็นไปไม่ได้ ค่าความผิดพลาดที่ฉันรับได้คือ ไม่เกิน 5 จุด ต่อหนังสือ 1 เล่ม ถ้ามากกว่านั้น ก็เตรียมเปลี่ยนตัวพิสูจน์อักษรได้เลย (แต่ไม่เปลี่ยน บก. นะจ๊ะ)

.........................เหลือบดูเวลานี่ก็ปาเข้า 5 ทุ่มแล้ว หนังตามันปรือๆ ยังไงพิกล อาการนี้ แถวบ้านเรียกว่า ง่วง

คืนนี้ขออัพเดทข้อมูลเท่านี้ก่อน คืนวันพรุ่งค่อยว่ากันต่ออีกทีนะคะ

ฝันดีค่ะ

editorpom

4 ความคิดเห็น:

LunNLaa กล่าวว่า...

เย้ ได้เม้นท์เป็นคนแรก







พี่ป้อมคะ แพรจะพยายามไม่ให้ผิดเกิน 5 จุดนะคะ







อ่านแล้วได้ความรู้มากๆ







ดูเหนื่อย แต่ก็น่าสนุกด้วย จริงไหมค่ะ บก.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โห.. งานหนักไม่ใช่เล่นเลยคับ เราจะช่วยกานให้งานสำเร็จไปด้วยดีในแต่ละเล่ม แล้วจะได้ลัลลากันถ้วนหน้าเลย อิอิ..

Ploennetta กล่าวว่า...

อ่านแล้วอึ้ง เพราะละเอียดมาก เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาอ่านอีกรอบเพื่อเก็บรายละเอียดนะคะ

จริงๆ พี่ป้อมเขียนสนุกนะ น่าจะลองเขียนหนังสือเองซักเล่ม "แฉชีวิตบอกอ" หรือว่า "บอกอสาวเจ้าเสน่ห์" ล้อเล่นๆ

แต่พูดจริงนะเรื่องลองเขียน ฮิฮิ

kanomdesign กล่าวว่า...

เข้าขั้นเทพแล้ว เจ๊เรา...
อยากจะเขียนหนังสือสักเล่มขึ้นมากะทันหันเชียว...